ร้อนจัด ไทยใช้ไฟฟ้าสูงสุดของปี 2566 เป็นครั้งที่ 2

1408
- Advertisment-

อากาศร้อนต่อเนื่อง ดันยอดใช้ไฟฟ้าประชาชนพุ่งทำลายสถิติสูงสุดของปี 2566 ถึง 31,495.5 เมกะวัตต์ และเป็นการทำลายสถิติพีคไฟฟ้าของปีนี้เป็นรอบที่ 2 แล้ว ท่ามกลางอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 37-41 องศาเซลเซียส ด้านสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดปี 2566 อาจจะเกิดพีคไฟฟ้าไปถึง 34,000 เมกะวัตต์ ทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้   

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในช่วงฤดูร้อนว่า จากข้อมูลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ที่รวบรวมความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีคไฟฟ้า)ในระบบของ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. , การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) ณ วันที่ 4 เม.ย. 2566 พบว่า ได้เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในรอบปี 2566 ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยเกิดพีคไฟฟ้าเมื่อเวลา 15.28 น. ประชาชนใช้ไฟฟ้าสูงถึง 31,495.5 เมกะวัตต์ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดต่อเนื่องเฉลี่ยอุณหภูมิสูงสุดอยู่ที่ 37-41 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้การเกิดพีคไฟฟ้า ของปี 2566 ได้เกิดขึ้นแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเกิดเมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 เวลา 15.43 น. มียอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 31,054.6 เมกะวัตต์ และครั้งที่ 2 วันที่ 4 เม.ย. 2566 เวลา 15.28 น. มียอดพีคไฟฟ้าที่ 31,495.5 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามพีคไฟฟ้าดังกล่าวยังไม่ทำลายสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในประวัติศาสตร์ไทยที่ 33,177.3 เมกะวัตต์ ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 28 เม.ย. 2565 เวลา 14.30 น.

- Advertisment -

นอกจากนี้ที่ผ่านมา นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ได้กล่าวไว้ว่า การใช้ไฟฟ้าในปี 2566 นี้ คาดว่าจะเกิดพีคไฟฟ้าที่ทำลายสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 34,000 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับพีคไฟฟ้าที่ทำสถิติสูงสุดไว้ในปี 2565 ที่ 33,177.3 เมกะวัตต์  แต่ยังไม่เป็นประเด็นที่น่ากังวล เพราะปริมาณสำรองไฟฟ้ามีเพียงพอที่จะรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศได้ และในเดือน ก.ค. 2566 นี้ กำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยก็จะเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน คลังรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG เทอร์มินอล แห่งที่ 2 (หนองแฟบ) ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็สร้างเสร็จแล้ว พร้อมรองรับ LNG เพิ่มขึ้นอีก 7.5 ล้านตันต่อปี ประกอบกับราคา LNG ช่วงนี้อ่อนตัวลง เหลืออยู่ที่ประมาณ 12-13 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อล้านบีทียู ดังนั้นไทยจะมีก๊าซฯเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอในราคาที่ไม่แพงเกินไปด้วย

Advertisment