ร่างกฎหมายกำกับดูแลราคาน้ำมัน สกัดผู้ค้าปรับราคาตามอำเภอใจ?

339
- Advertisment-

เชื่อว่าหลายๆ คน จดจำโมเมนต์การเติมน้ำมันผิดวันได้เป็นอย่างดี ในวันที่เราเพิ่งเติมเต็มถัง กลับมีข่าวประกาศว่า “พรุ่งนี้น้ำมันลดราคา 30 สตางค์” หรือในวันที่เลิกงานช้าถึงบ้านดึก แล้วมาพบข่าวว่า “พรุ่งนี้น้ำมันขึ้น 60 สตางค์” แม้จะไม่ใช่มูลค่ามากมาย แต่ถ้าเลือกได้คงไม่มีใครอยากจ่ายแพงกว่าเดิมแน่ๆ ยังไม่รวมโมเมนต์หงุดหงิดกับราคาน้ำมันที่ถูกอ้างว่าขึ้นตามตลาดโลก แต่เวลาตลาดโลกลดลง ทำไมราคาน้ำมันในบ้านเรากลับยังเท่าเดิม จนทำให้คิดไปได้ว่า ผู้ค้าน้ำมันนึกอยากจะขึ้นก็ขึ้นใช่หรือไม่ ?

ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้ จึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องการเร่งออกกฎหมายเพื่อมากำกับดูแลราคาน้ำมัน

แหล่งข่าวในกระทรวงพลังงาน มองว่า นับตั้งแต่ที่นายพีระพันธุ์ เข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้ 1 ปี เขาได้กลายเป็นรัฐมนตรีที่สร้างความแตกต่างไปจากอดีตรัฐมนตรีพลังงานในอดีตอย่างสิ้นเชิง แม้นายพีระพันธุ์จะมาจากสายกฎหมาย มิใช่ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทน้ำมัน และไม่มีประสบการณ์ด้านพลังงานมาก่อน แต่นายพีระพันธุ์สามารถใช้องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาพลังงานที่หมักหมมมาตลอดหลายสิบปี. โดยปัญหาราคาน้ำมันที่หมักหมมมาตลอดหลายสิบปี เป็นเพราะไม่มีใครสามารถรู้ราคาต้นทุนของน้ำมันเชื้อเพลิงมาก่อน ซึ่งเมื่อไม่รู้ต้นทุนที่แท้จริงก็ไม่สามารถกำหนดราคาที่เป็นธรรมได้ แต่กระทรวงพลังงานในยุคของนายพีระพันธุ์สามารถออกประกาศกระทรวงพลังงานที่กําหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุน และมีผลบังคับใช้ในเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมาแล้ว  

- Advertisment -

นอกจากประเทศไทยจะไม่เคยมีกฎหมายให้ผู้ค้าแจ้งต้นทุนราคาน้ำมันแล้ว เราก็ไม่เคยมีกฎหมายในการควบคุมการขึ้นลงของราคาน้ำมัน ซึ่งเรื่องนี้พี่น้องประชาชนเคยสงสัยกันมาตลอด สงสัยกันมานานแล้วว่า ทำไมกระทรวงพลังงานไม่ดูแลเลย นั่นเป็นเพราะกระทรวงพลังงานไม่มีกฎหมายอยู่ในมือจึงไม่มีอำนาจจะไปกำกับควบคุมการปรับราคาน้ำมันขึ้นหรือลงได้

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีแต่กฎหมายในการอนุญาตให้ค้าน้ำมัน แต่ไม่มีกฎหมายในการกํากับดูแลราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นเรื่องเหลือเชื่อมากๆ เพราะขนาดราคาค่าไฟฟ้า ยังมีคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน เป็นผู้กํากับดูแลการปรับขึ้นราคาที่ต้องสมเหตุผล ขนาดการกํากับดูแลกิจการสื่อก็ยังมี กสทช. แต่ราคาน้ำมันไม่มีการกำกับดูแล และเป็นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว จึงทำให้กระทรวงพลังงานในยุคของนายพีระพันธุ์ ลุกขึ้นมาจัดทำร่างกฎหมายเพื่อกํากับดูแลการประกอบธุรกิจการค้าน้ำมันจนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้กระทรวงมีอำนาจในการดูแลราคาน้ำมัน สกัดกั้นบรรดาผู้ค้าน้ำมันที่ปรับราคาขึ้นลงตามอำเภอใจ หรืออ้างขึ้นราคาตามตลาดโลก แต่เวลาราคาตลาดโลกลดกลับไม่ลดราคาตาม

แหล่งข่าวมองว่า ภารกิจที่ท้าทายในเรื่องน้ำมันนั้น ก็คือ การผลักดันกฎหมายเรื่องสํารองน้ำมันของประเทศ เพราะที่ผ่านมาหลายสิบปี ประเทศไทยไม่เคยมีการสํารองน้ำมันของประเทศเลย ที่อ้างอิงหรือระบุว่ามีนั้นมิใช่สํารองน้ำมันของประเทศ แต่เป็นสํารองน้ำมันของผู้ค้าน้ำมัน ซึ่งนั่นเท่ากับว่า เราปล่อยให้คนทั้งประเทศและเสถียรภาพทางพลังงานทั้งหมดตกอยู่ในมือของบรรดาผู้ค้าน้ำมัน ดังนั้นการจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR (Strategic Petroleum Reserve) จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถควบคุมราคาได้เอง และหากสามารถผลักดันการสำรองน้ำมันของประเทศได้ นายพีระพันธุ์ก็ยังมีแผนที่จะนำน้ำมันสำรองมาดูแลแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแทนการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ประเทศไทยมีน้ำมันสำรอง และให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเปลี่ยนน้ำมันสำรองนี้มาเป็นสินทรัพย์ของกองทุน เพื่อให้การบริหารจัดการราคาน้ำมันของกองทุนน้ำมันกลายเป็นการสร้างทรัพย์สินของประเทศให้เพิ่มพูน กองทุนน้ำมันจะไม่ต้องแบกหนี้สินจากการตรึงราคาน้ำมัน และมิใช่ภาระหนี้สินของประเทศอีกต่อไป

สำหรับเรื่องพลังงานไฟฟ้า นายพีระพันธุ์ ก็กำลังผลักดันกฎหมายกำกับดูแลการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา เพื่อให้ประชาชนสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ง่ายขึ้น เพราะการติดตั้งในปัจจุบันมีความยุ่งยากทั้งเรื่องขออนุญาตและการติดตั้ง ซึ่งสาเหตุก็มาจากการที่ไม่มีกฎหมาย ซึ่งพอไม่มีกฎหมาย บรรดากระทรวงและ หน่วยงานต่างๆ ก็บอกว่าเป็นอํานาจของหน่วยงานตนเองหมดเลย ประชาชนก็ต้องวิ่งไปขออนุญาตทุกที่ เสียเวลาเสียค่าใช้จ่าย และสร้างความยุ่งยากกว่าจะได้ติดตั้ง แต่หากกฎหมายของกระทรวงพลังงานเสร็จเรียบร้อย จะเปรียบเสมือนการปลดล็อกให้ประชาชนสามารถติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือในพื้นที่บ้านได้สะดวกและง่ายขึ้น

และนอกจากการออกกฎหมายให้เข้าถึงพลังงานแสงอาทิตย์ได้ง่ายขึ้นแล้ว กระทรวงพลังงานก็กำลังหาทางช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในราคาที่ถูกลง ด้วยการพัฒนาระบบต่างๆ ให้มีคุณภาพสูงแต่มีราคาถูกลง ได้แก่ ระบบแบตเตอรี่สำรอง เพราะการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางคืนที่ไม่มีแสงแดด จะต้องใช้แบตเตอรี่เก็บสํารองที่มีราคาแพงมาก กระทรวงพลังงานจึงได้มีการตั้งคณะกรรมการโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อประชาชน ซึ่งมีการประชุมมาอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบแผงโซลาร์เซลล์ระบบอินเวอร์เตอร์ และระบบแบตเตอรี่สำรอง ซึ่งทั้งหมดต้องผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ได้ชุดผลิตและสำรองไฟฟ้าที่มีมาตรฐานและความปลอดภัย โดยโจทย์สำคัญที่สุดคือจะต้องทำให้มีราคาที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้  

Advertisment