โดย วัชรพงศ์ ทองรุ่ง บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข่าวพลังงาน Energy News Center (ENC)
ภาพรวมธุรกิจปิโตรเคมีของไทยกำลังเผชิญปัญหาหนักจากการที่ประเทศจีนซึ่งเคยเป็นตลาดส่งออกสำคัญสำหรับเม็ดพลาสติของไทย กลับกลายมาเป็นประเทศผู้ผลิตและทำการส่งออกเสียเอง ผลก็คือภาวะโอเวอร์ซัพพลาย เพราะหลายประเทศที่ไม่สามารถส่งออกไปตลาดจีนได้ต้องส่งสินค้ามาดัมพ์ราคากันเอง การปรับตัวขึ้นไปสู่ตลาดผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี หรือ เคมีภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง จึงเป็นทางรอด แต่ก็ไม่ง่ายสำหรับคนที่ทำเม็ดพลาสติกส่งออกในตลาดสินค้าพื้นฐานทั่วไป หรือ ที่เรียกว่าตลาด Commodity โดยหากไม่มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตัวเอง ก็ต้องมีพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งในเรื่องนี้
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ผมกับเพื่อนสื่อมวลชนหลายสำนักจากประเทศไทยได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมกิจการของ ซันโยเคมิคอล อินดัสทรี หรือ SCI ที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น จึงได้ทราบข้อมูลในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นด้วย โดย SCI นั้นเป็นบริษัทด้านเคมีภัณฑ์ชั้นนำของญี่ปุ่น ที่มีผลิตภัณฑ์จัดจำหน่ายกว่า 3,000 ชนิด อาทิ สารลดแรงตึงผิว (Surfactants) วัตถุดิบในการผลิตโพลียูรีเทน และ Super Absorbent Polymers ที่ตอบสนองความต้องการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ
SCI มีบริษัทในเครือที่มาลงทุนในประเทศไทยด้วย ชื่อ บริษัท ซันโย กาเซ (ไทยแลนด์) จำกัด หรือ SKT ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2540 โดยเป็นการลงทุนตั้งโรงงานในพื้นที่จังหวัดระยองเพื่อผลิตเคมีภัณฑ์ประสิทธิภาพสูง เช่น สารเคลือบสียานยนต์ และสารช่วยการกระจายตัวชนิด polycarboxylic acid แบบน้ำหนัก เป็นต้น
สิ่งที่น่าสนใจในการเยี่ยมชม SCI ครั้งนี้ คือ การโชว์นวัตกรรมที่ทาง SCI ได้มีการลงทุนพัฒนาทำการศึกษาวิจัยอย่างจริงจัง แต่ให้ถือเป็นความลับภายในองค์กร ห้ามสื่อมวลชน บันทึกภาพใดๆ ทำให้เห็นว่า การก้าวขึ้นสู่บริษัทที่มีนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ประสิทธิภาพสูงนั้น เกิดขึ้นด้วยองค์ความรู้และต้องใช้เงินลงทุนสูง
และยังทำให้เห็นว่า การที่ทาง GC บริษัทเรือธงด้านปิโตรเคมีของ กลุ่ม ปตท. เลือกจับมือกับ SCI และ Toyota Tsusho จัดตั้งบริษัท GC Polyols เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายโพลีออลส์ (Polyols) ซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบหลักสำหรับการผลิตโพลียูรีเทน โดย GC ถือหุ้น 82.1% SCI 14.9% และ TTC 3% ตั้งแต่ปี 2560 นั้น เป็นการก้าวเดินที่สำคัญในการเตรียมความพร้อมที่จะก้าวสู่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่มีมูลค่าสูง ไม่เช่นนั้น GC เองอาจจะได้รับผลกระทบหนักจากปัญหาโอเวอร์ซัพพลายของตลาดเม็ดพลาสติกที่กำลังเกิดขึ้น


ภายใต้การร่วมลงทุนดังกล่าว GC จะเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบหลัก Propylene Oxide (PO) และ Ethylene Oxide (EO) ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตโพลีออลส์สำหรับใช้ในการผลิตโพลียูรีเทนคุณภาพสูงที่ใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้า (E&E) และอุตสาหกรรมก่อสร้าง ส่วน SCI จะเป็นผู้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์โพลีออลส์ประเภทต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า ส่วน TTC จะให้การสนับสนุนด้านการตลาด การจัดจำหน่าย และการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ในทวีปเอเชีย
หลังการเยี่ยมชมงานด้านการลงทุนนวัตกรรมของ SCI ทำให้ผมมองเห็นว่าการเลือกพันธมิตรที่มีความแข็งแกร่งเรื่องเทคโนโลยีและด้านการตลาด จะเป็นโมเดลสำคัญในการปรับตัวทางธุรกิจปิโตรเคมีของกลุ่ม ปตท. ในอนาคตโดยเฉพาะพันธมิตรใหม่ที่จะมาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ เช่นเดียวกับ SCI