รู้จัก Hotline กฟผ. ผ่านคู่แฝดช่างสาย กับภารกิจสูงและเสี่ยง เพื่อบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง

11808
- Advertisment-

สายส่งไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปรียบเสมือน “เส้นเลือดใหญ่ในร่างกายของมนุษย์” ซึ่งหากขาดหรือชำรุดไปเพียงหนึ่งจุด ย่อมทำให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง จะทำให้ไฟฟ้าตกหรือดับเป็นวงกว้าง อาจจะทั้งจังหวัดหรือทั้งภาคเลยก็เป็นไปได้ จึงจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลสายส่งไฟฟ้าให้คงอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่ตลอดเวลา ซึ่ง กฟผ. มีหน่วยงานที่เรียกว่า “Hotline” มีภารกิจบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. เพื่อให้สามารถส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าไปทั่วทุกพื้นที่ ไม่ตก ไม่ดับ เพื่อสร้างความสว่างไสวและความสุขให้กับผู้คนทั่วประเทศไทย

และหากได้รู้จักการทำงานของหน่วยงานที่เรียกว่า Hotline ของ กฟผ. นี้แล้ว จะต้องยอมรับเลยว่าซุปเปอร์ฮีโร่ไม่ได้มีแต่ในหนังหรือการ์ตูนเท่านั้น เพราะมนุษย์ธรรมดาอย่างช่างสาย Hotline ของ กฟผ. นี่เอง ที่สามารถทำภารกิจที่เสี่ยงอันตราย และท้าทายความกล้า ไม่ต่างไปจากเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่ทั้งหลาย เพื่อบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. เพราะต้องขึ้นไปทำงานอยู่บนเสาไฟฟ้าแรงสูงความสูงเท่ากับตึก 20 ชั้น กับกระแสไฟฟ้าแรงดัน 500 กิโลโวลต์ หรือเท่ากับ 500,000 โวลต์  มากกว่ากระแสไฟฟ้าในครัวเรือนประมาณ 2,000 เท่า ที่ไหลอยู่ในสายไฟฟ้าแรงสูงไร้ฉนวนที่ถูกขึงทอดยาวอยู่กับเสาโครงเหล็ก เพื่อส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าไปทั่วทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

- Advertisment -

“หนึ่ง และ หนุ่ม” คู่แฝด Hotline ของ กฟผ. คือตัวอย่างมนุษย์ธรรมดาที่ทำภารกิจราวซุปเปอร์ฮีโร่ดังที่กล่าวนั้น! และเป็นเรื่องแปลกแต่จริง ที่วันนี้ กฟผ. มีคู่แฝดที่ไม่ได้เหมือนกันเฉพาะรูปร่างหน้าตาเท่านั้น แต่เหมือนกันแม้กระทั่งอาชีพและภารกิจความรับผิดชอบอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะในไทยจะมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่จะเป็นช่างสาย Hotline ได้ ที่สำคัญ ทั้งคู่มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างประโยชน์สุขให้แก่ผู้อื่น

นรินทร์ ยมะสมิตร  “หนึ่งแฝดพี่  กล่าวว่า ผู้ปฏิบัติงานบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงทุกคนจะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการคัดเลือก และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากโรงเรียนช่างสายของ กฟผ. รวมทั้งผ่านการทดสอบสมรรถภาพร่างกายก่อนปฏิบัติงานทุกครั้ง ช่างสาย Hotline ทุกคนจะต้องมีความพร้อม ทั้งด้านทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญ สภาพร่างกายที่แข็งแรง และสภาพจิตใจที่มั่นคง

นพรัตน์ ยมะสมิตรหนุ่ม” แฝดน้อง กล่าวว่า ระหว่างการปฏิบัติงานบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ช่างสาย Hotline ทุกคนจะต้องสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันการตกจากที่สูง เนื่องจากต้องขึ้นไปปฏิบัติงานบนเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงที่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 30-65 เมตร โดยรอบ ๆ ตัวจะเต็มไปด้วยแรงดันไฟฟ้าตั้งแต่ขนาด 115, 230 และ 500 กิโลโวลต์ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า การทำงานจึงต้องระมัดระวังและปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในการทำงานเป็นสำคัญ

นรินทร์ ยมะสมิตร “หนึ่ง” แฝดพี่ (ซ้าย) และ นพรัตน์ ยมะสมิตร “หนุ่ม” แฝดน้อง (ขวา)

เส้นทางสู่ Hotline

นรินทร์ กล่าวว่า “เดิมทีหลังจากเรียนจบในสาขาช่างไฟฟ้าแล้ว ได้ข่าวการเปิดรับสมัครงานของ กฟผ. จึงสนใจและตัดสินใจสมัครงานที่ กฟผ. เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่มีความมั่นคง และคิดว่าจะได้ทำงานตรงกับสาขาที่เรียน โดยสามารถสอบผ่านทั้งข้อเขียนและการสัมภาษณ์ รวมถึงผ่านการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ได้แก่ การทดสอบเรื่องการขึ้นที่สูง (ปีนเสาไฟฟ้าแรงสูง) จึงได้มีโอกาสมาทำงานในส่วนของงาน Hotline อย่างเต็มตัวเช่นเดียวกับน้องชายฝาแฝด รู้สึกภาคภูมิใจในอาชีพ Hotline เพราะเป็นงานที่ท้าทายความสามารถ และมีเพียงไม่กี่คนที่จะมีโอกาสทำงานแบบนี้ เพื่อสร้างแสงสว่างและความสุขให้กับคนไทยทุกคน”

สำหรับ นพรัตน์  “เหตุผลที่เลือกมาสมัครทำงานเป็นเจ้าหน้าที่บำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูง หรือ Hotline ที่ กฟผ. นั้น เนื่องจากเป็นงานที่ตรงกับสาขาวิชาไฟฟ้าที่เราได้เรียนจบมา และงาน Hotline ถือเป็นงานที่เรียกว่า สุดยอดของไฟฟ้า  เนื่องจากต้องทำงานกับแรงดันไฟฟ้าสูงถึง 500,000 โวลต์ ซึ่งเป็นแรงดันไฟฟ้าสูงสุดของประเทศไทย เป็นงานที่ท้าทาย ความสามารถ ต้องเข้าไปสัมผัสกับแรงดันไฟฟ้าแรงสูงและต้องปีนขึ้นไปทำงานบนเสาไฟฟ้าแรงสูงมากกว่า 60 เมตร และใน ประเทศไทยมีเจ้าหน้าที่ Hotline อยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น จึงตัดสินใจเลือกมาเป็นเจ้าหน้าที่ Hotline ของ กฟผ.”

ภารกิจสุดภาคภูมิใจในการเป็น Hotline

นรินทร์ แฝดพี่  เปิดเผยว่า การทำงาน Hotline ทุกครั้ง จะต้องมีการประชุมชี้แจง ทบทวนขั้นตอนการทำงาน ขณะปฏิบัติงานต้องช่วยกันดูแลเรื่องความปลอดภัย ต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง ต้องมีความสามัคคีกันในทีม แม้ว่าสภาพอากาศอาจจะร้อน สภาพพื้นที่ทำงานจะเป็นทุ่งนาหรือป่าเขาทำให้การทำงานยากลำบากมากแค่ไหน ทุกคนก็มุ่งมั่นตั้งใจปฏิบัติภารกิจให้ประสบสำเร็จอย่างเต็มที่

“ภารกิจที่รู้สึกภาคภูมิใจมากที่สุด คือภารกิจการเปลี่ยนลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้า โดยวิธีไม่ดับกระแสไฟฟ้า เป็นการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าโดยไม่ทำให้ไฟฟ้าดับ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า ถือเป็นงานที่เจ้าหน้าที่ Hotline ทุกคนต้องได้รับการฝึกจากโรงเรียนช่างสาย เพื่อให้เข้าใจหลักการและขั้นตอนการทำงานอย่างถูกต้องและปลอดภัย”

นพรัตน์ แฝดน้อง เล่าว่า “ภารกิจที่รู้สึกภาคภูมิใจมากที่สุด คือครั้งที่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจกู้เสาส่งไฟฟ้าแรงสูงล้ม  เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ก่อวินาศกรรมเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทีม Hotline ของ กฟผ. ทุกคนจะต้องเร่งดำเนินการกู้เสาส่งไฟฟ้าแรงสูง โดยต้องทำงานแข่งกับเวลา สภาพอากาศร้อน และความเสี่ยงจากเหตุการณ์ความไม่ สงบในพื้นที่ เพื่อให้ระบบส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้า กลับมาใช้งานได้รวดเร็วที่สุด”

งานของ Hotline กฟผ. ยิ่งสูงยิ่งต้องระมัดระวัง ยิ่งเสี่ยงก็ยิ่งต้องเตรียมความพร้อมของร่ายกายและจิตใจให้แข็งแกร่ง เพื่อปฏิบัติภารกิจบำรุงรักษา “เส้นเลือดใหญ่ของระบบไฟฟ้าไทย” ให้มีความมั่นคงและมีความพร้อมที่จะสร้างแสงสว่างและสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้กับสังคมไทยอย่างยั่งยืน

*ขอบคุณภาพทั้งหมด จาก กฟผ.

Advertisment