รายได้กิจการพลังงาน หนุนเศรษฐกิจไทย

479
- Advertisment-

จากสถานการณ์โควิด 19 ที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย โดยปี 2563 ทำให้จีดีพีติดลบร้อยละ 6 อย่างไรก็ตาม ปีนี้มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจจะสามารถเติบโตได้เล็กน้อย โดยเครื่องยนต์สำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในขณะนี้ คือการส่งออกและการลงทุนภาครัฐ นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีนโยบายผลักดันให้รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ อย่าง ปตท. และ กฟผ. เร่งลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมีงบลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาทในปี 2564

นอกจากนี้ รายได้จากการประกอบกิจการด้านพลังงาน ถือเป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้ให้กับภาครัฐเช่นเดียวกัน โดยนำมาเป็นงบประมาณในการใช้จ่ายเพื่อดูแลประชาชน โดยเฉพาะรายได้จากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564 สามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐถึง 25,200 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากการจัดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียม 16,300 ล้านบาท รายได้จากองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย 5,500 ล้านบาท และรายได้อื่น ๆ ประมาณ 3,400 ล้านบาท ซึ่งรายได้จากการจัดเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมได้มีการจัดสรรกลับสู่ท้องถิ่น ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลทั่วประเทศ ถือเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

​ที่น่าสนใจ ก็คือกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ถือเป็นหน่วยงานระดับกรมที่นำส่งรายได้เข้ารัฐ เป็นอันดับ 4 ของประเทศ จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2563 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศ ประมาณ 55,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่จัดเก็บได้จากธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยแบ่งเป็น ค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ประมาณ 36,400 ล้านบาท รายได้จากองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ประมาณ 12,000 ล้านบาท และอื่น ๆ อาทิ เงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ เงินโบนัสลงนาม เป็นต้น อีกประมาณ 7,100 ล้านบาท และยังมีภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่จัดเก็บโดยกรมสรรพากร อีกกว่า 7 หมื่นล้านบาท

- Advertisment -

ยิ่งไปกว่านั้น รายได้ที่จัดเก็บจากธุรกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ที่เรียกว่า “ค่าภาคหลวง” นั้น ได้ถูกจัดสรรให้กับท้องถิ่นโดยตรง แบ่งได้ดังนี้ จัดสรรให้ อบต. ในพื้นที่ผลิต ร้อยละ 20 จัดสรรให้ อบต. และเทศบาลทั่วประเทศ ร้อยละ 20 จัดสรรให้ อบจ. ร้อยละ 20 ถือเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นโดยตรง นอกจากนี้ กิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ยังก่อให้เกิดการจ้างงานในจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมทั่วประเทศอีกด้วย

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการแสวงหาพลังงานเชื้อเพลิง เพื่อประโยชน์ต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน และต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ยังมีการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยล่าสุดได้เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งบนบก แปลงสำรวจ L1/64 ขนาดพื้นที่ 87.6 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสุโขทัยและกำแพงเพชร เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนในกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอย่างต่อเนื่อง

ถือเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สร้างประโยชน์ให้ประเทศ ทั้งทำให้เกิดการจ้างงาน การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น เสริมความมั่นคงด้านพลังงาน และช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ

Advertisment