ราช กรุ๊ป -กฟผ. ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(Power Purchase Agreement -PPA) โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง จ.ราชบุรี ขนาด 1,400 เมกะวัตต์ ผูกพันระยะเวลา 25 ปีแล้ว ก่อน “สนธิรัตน์ ” รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) หรือ RATCH ได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทราบว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 บริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด(HKP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยทางอ้อม ที่ ราช กรุ๊ป ถือหุ้นอยู่ 100% ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ต.หินกอง อ.เมือง จ.ราชบุรี กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แล้ว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจนถึงวันครบกำหนด 25 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์
โดยโครงการดังกล่าว เป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เป็นเชื้อเพลิงหลัก ขนาดกำลังการผลิต 1,400 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 เครื่อง เครื่องละ 700 เมกะวัตต์ ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า โดยมีกำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2567 และปี 2568 ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2562 ราช กรุ๊ป ยังได้แจ้งให้ตลาดหลักทรัพย์ฯทราบว่า ราช กรุ๊ป ได้จดทะเบียนจัดตั้ง บริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด(HKH) ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทย่อยที่ ราช กรุ๊ป ถือหุ้นทั้งหมด และหลังจากนั้น HKH จะเตรียมจัดตั้งบริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด (HKP) โดย HKH ถือหุ้นทั้งจำนวน ภายในเดือนพ.ค. 2562 ที่ผ่านมา เพื่อเตรียมความพร้อมในการลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าของกลุ่ม ราช กรุ๊ป ต่อไป ซึ่งบริษัทย่อยดังกล่าว มีทุนจดทะเบียน จำนวน 4 ล้านบาท
และก่อนหน้านี้ นายกิจจา ระบุว่า การลงทุนก่อสร้าง 2 โรงไฟฟ้าในพื้นที่ภาคตะวันตกดังกล่าว คาดว่า จะมีมูลค่าลงทุนรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งโรงแรก มีกำหนด COD ปี2567 จะเป็นการสร้างทดแทนโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ ขนาด 700 เมกะวัตต์ ที่จะหมดอายุลงเดือนก.ค ปี2563 และอีกโรงเป็นกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ กำหนดCOD ปี2568 ซึ่งทั้ง 2 โรงจะสร้างความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมหินกอง จะเข้ามาช่วยเสริมระบบไฟฟ้าของภาคตะวันตกและภาคใต้ ให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพมากขึ้น โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะสร้างอยู่ในพื้นที่เดิมของโรงไฟฟ้าไตรเอนเนอจี้ที่จะหมดอายุในปี 2563 และจะใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ระหว่างบริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด(HKP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ราช กรุ๊ป ถือหุ้น 100% นั้น เป็นไปตามมติ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)เมื่อเดือน พ.ค.2562 ที่มี นาย ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในขณะนั้น โดยอาศัยอำนาจตามที่ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และ คณะรัฐมนตรี ที่เห็นชอบแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP2018) และให้ กบง.เป็นผู้พิจารณาจัดหาโรงไฟฟ้าเข้าสู่ระบบตามแผนโดยคำนึงถึงความเหมาะสม และ ความมั่นคงไฟฟ้าภาคตะวันตกและภาคใต้
ทั้งนี้ การลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าว ใช้เวลาเจรจากันเพียง2เดือนเศษนับตั้งแต่ที่กบง.มีมติ ซึ่งนับว่าเร็วกว่าปกติ และยังเป็นการลงนามโดยไม่รอสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ(Gas Sales Agreement)กับปตท.ที่ปกติจะเซ็นลงนามพร้อมกัน รวมทั้งยังไม่รอให้ เรื่องคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เสนอให้กระทรวงพลังงานทบทวนแผน PDP2018 มีข้อยุติ และไม่รอให้รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พิจารณาก่อนตามธรรมเนียมที่เคยยึดถือปฏิบัติกันมา โดยประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 1,400เมกะวัตต์ โดยไม่ต้องประมูลแข่งขันราคา ถือเป็นเรื่องที่สื่อและสังคมให้ความสนใจ เพราะเป็นสัญญาผูกพันระยะยาว ที่เกี่ยวข้องกับค่าไฟฟ้าที่จัดเก็บกับประชาชน