- Advertisment-

กระทรวงการคลังออกประกาศในราชกิจจานุเบกษา เริ่มลดภาษีรถ EV สูงสุด 40% ถึงปี 2566 นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ชี้ช่วยกระตุ้นการประกอบรถ EV ในประเทศ และราคาจำหน่ายถูกลง สร้างแรงจูงใจประชาชนต้องการรถ EV สูงขึ้น ท่ามกลางปัญหาราคาน้ำมันแพง ยอมรับการผลิตรถ EV ยังมีจำกัดจากปัญหาโลกขาดแคลนอุปกรณ์ เซมิคอนดักเตอร์  แนะรัฐใช้โอกาสนี้เร่งสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ถึงเป้าหมาย 4,400 หัวจ่ายภายใน 3 ปี รองรับรถ EV แห่งอนาคต

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2565  กระทรวงการคลัง ได้ออกประกาศราชกิจจานุเบกษาเรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้ามาทั้งคันเพื่อประโยชน์แก่เศรษฐกิจของประเทศ โดยให้ลดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า(EV) สูงสุด 40% ซึ่งประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. 2565 ถึง 31 ธ.ค. 2566 โดยมีเงื่อนไขดังนี้

- Advertisment -

1. ส่วนลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ราคาไม่เกิน 2ล้านบาท

โดยรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่มีราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท ให้ได้รับการลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรดังต่อไปนี้

        1.1 ผู้นำเข้ารถยนต์ ที่ใช้สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีแล้ว ยังมีอัตราอากรที่ต้องชำระไม่เกิน 40% ให้ได้รับการยกเว้นอากร

        1.2 ผู้นำเข้ารถยนต์ ที่ใช้สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีแล้ว ยังมีอัตราอากรที่ต้องชำระมากกว่า 40% ให้ได้รับการลดอัตราอากรลงอีก 40%

         1.3 ผู้นำเข้ารถยนต์ ที่ไม่ได้ใช้สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ให้ได้รับการลดอัตราอากรลงเหลือ 40%

2.รถยนต์ไฟฟ้าที่ราคาแพงกว่า 2 ล้านบาท

รถยนต์ไฟฟ้าที่มีความจุแบตเตอร์รี่มากกว่า 30 กิโลวัตต์ชั่วโมง ขึ้นไป และมีราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท ให้ได้รับการลดอัตราอากรหรือ ยกเว้นอากร ดังนี้

        2.1 ผู้นำเข้ารถยนต์ ที่ใช้สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีแล้ว ยังมีอัตราอากรที่ต้องชำระไม่เกิน 20% ให้ได้รับการยกเว้นอากร

         2.2 ผู้นำเข้ารถยนต์ ที่ใช้สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีแล้ว ยังมีอัตราอากรที่ต้องชำระมากกว่า 20% ให้ได้รับการลดอัตราอากรลงอีก 20%

          2.3 ผู้นำเข้ารถยนต์ ที่ไม่ได้ใช้สิทธิพิเศษทางอากรศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรี ให้ได้รับการลดอัตราอากรลงเหลือ 60%

นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ( EVAT) กล่าวว่า การลดภาษีรถ EV สำเร็จรูปทั้งคันในครั้งนี้จะช่วยให้รถ EV ที่จำหน่ายในประเทศไทยมีมากขึ้น ราคาถูกลง และทำให้ยอดผู้ใช้รถ EV เพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากเงื่อนไขการลดภาษีนำเข้ารถ EV ในครั้งนี้ มีการกำหนดให้ค่ายรถยนต์ต้องลงนามบันทึกข้อตกลง(MOU) ว่าจะเข้ามาประกอบรถ EV ในไทยภายใน 2-3 ปี ตามจำนวนรถ EV ที่นำเข้าภาษี 0% เช่น ถ้านำเข้ารถ EV จำนวน 100 คัน ได้ภาษี 0% ในปี 2565 ก็ต้องเริ่มธุรกิจการประกอบรถ EV ในไทย คืนกลับมา 100 คัน ภายในปี 2567 เช่นกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมการผลิตรถ EV ในประเทศไทย

รวมทั้งภาครัฐให้สิทธิประโยชน์เงินสนับสนุนผู้นำเข้ารถ EV อีกคันละ 70,000-150,000 บาท ซึ่งค่ายรถก็นำมาลดราคาให้กับผู้ซื้อรถ EV ซึ่งจะเห็นได้ในงานมอเตอร์โชว์ 2022 ที่ผ่านมา ทำให้ราคารถ EV ถูกลง ประกอบกับช่วงนี้ราคาน้ำมันแพง ประชาชนจึงให้ความสนใจซื้อรถ EV มากขึ้น ปัจจุบันมีรถ EV ที่จดทะเบียนทั้งหมดประมาณ 1.1 หมื่นคัน แต่ถ้านับเฉพาะรถเก๋งมีประมาณ 4,132 คัน ซึ่งแนวโน้มคนจะหันมาใช้รถ EV เพิ่มขึ้นแน่นอน 

อย่างไรก็ตามปัจจุบันโลกกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) ทำให้กระทบต่อการผลิตรถ EV ทั่วโลก แม้ปัจจุบันความต้องการรถ EV มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันแพง แต่การผลิตก็มีจำกัดเพราะขาดแคลนอุปกรณ์จากประเทศผู้ผลิต ดังนั้นในช่วงนี้สิ่งที่ไทยทำได้คือเตรียมความพร้อมด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถ EV ให้มากขึ้น รองรับความต้องการรถ EV ในอนาคต

ปัจจุบันไทยมีสถานีอัดประจุไฟฟ้ารวม 688 แห่ง รวม 2,272 หัวจ่าย  แบ่งเป็น DC quick charge 700 กว่าหัวจ่าย  แต่ในอนาคตจะมากขึ้น เนื่องจากภาครัฐกำหนดเป้าหมาย DC quick charge เป็น 4,400 หัวจ่าย หรือเท่ากับต้องเพิ่มสถานีอัดประจุไฟฟ้าอีกประมาณ 300 สถานี ภายใน 3 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งคาดว่าจะมีสถานีฯเพียงพอต่อปริมาณรถ EV ในขณะนั้นด้วย

Advertisment