มาตรการดูดซับน้ำมันปาล์มดิบของกระทรวงพลังงานในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่ช่วยผลักดันราคาผลผลิตปาล์มของเกษตรกรให้ไปสู่เป้าหมาย เกิน3บาทต่อกิโลกรัมได้ ทำให้รัฐมนตรีพลังงาน สั่งการให้ กฟผ.เร่งดำเนินการตามมติ คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.)เพื่อเร่งดูดซับน้ำมันปาล์มดิบจากตลาด โดยเพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มดิบ ผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา จากวันละ 1,000 ตัน เป็น 1,500 ตัน โดยเร็ว พร้อมพิจารณาเพิ่มจุดรับน้ำมันปาล์มดิบที่คลัง จ.สุราษฎร์ธานี และให้เร่งการชำระเงินให้แก่โรงสกัดภายใน 7 วันทำการพลังงาน พร้อมเตรียมเสนอขอใช้เงินงบประมาณรัฐ มาอุดหนุนเพื่อให้ปตท.ผลิตเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือบี100 ส่งออก โดยมีราคารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบที่18บาทต่อกิโลกรัม เช่นเดียวกับที่ กฟผ.รับซื้อ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า จากการที่รัฐบาลให้กระทรวงพลังงานดำเนินมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ โดยให้ กฟผ.รับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดที่18บาทต่อกิโลกรัม เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง หน่วยที่3 จังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่วันที่ 2ก.พ.2562 ที่ผ่านมา เพื่อหวังยกระดับราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรชาวสวนปาล์มให้สูงขึ้นเกิน3 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปรากฏว่า ผ่านมาได้ เดือนครึ่ง ก็ยังไม่สามารถที่จะช่วยดึงราคาผลผลิตปาล์มให้สูงขึ้นได้ ในทางตรงกันข้ามราคากลับตกต่ำลง จาก ราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันทั้งทะลาย ณ วันที่ 1ก.พ.2562 อยู่ที่2.51 บาทต่อกิโลกรัม ลดลงมาเหลือ 2.28 บาทต่อกิโลกรัม ณ วันที่ 15 มี.ค.2562(อ้างอิงราคาจากเว็บไซต์ www.kasetprice.com )
วันนี้ (18 มีนาคม 2562)นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้แถลงข่าวเรื่อง เพิ่มการใช้น้ำมันปาล์มผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และพิจารณาเพิ่มจุดรับซื้อน้ำมันปาล์มเพิ่มเติม โดยมี นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. และนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน กฟผ. ร่วมให้ข้อมูล ณ ห้องประชุม 201 อาคาร ท.100 สำนักงานใหญ่ กฟผ. อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
โดยนายศิริ กล่าวว่า คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 มอบหมายให้ กระทรวงพลังงาน โดย กฟผ. เพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า จากวันละ 1,000 ตัน เพิ่มกำลังการผลิตเป็นวันละ 1,500 ตัน เพื่อเร่งดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบออกจากระบบได้เร็วยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นราคาผลปาล์มให้มีราคาสูงขึ้น และขอให้ กฟผ. ดำเนินการเพิ่มจุดรับน้ำมันปาล์มดิบที่ จ.สุราษฎร์ธานี อย่างเร่งด่วน คาดว่าจะทำให้เกษตรกรสามารถขายผลปาล์มดิบได้ในราคากิโลกรัมละ 3 บาท – 3.2 บาท อย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยถึงความคืบหน้าแนวทางการเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบ ในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนบางปะกง หน่วยที่ 3 ว่า ขณะนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตเพื่อให้สามารถรองรับการเดินเครื่องที่เพิ่มขึ้นจาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดย กฟผ. ได้ดำเนินการทดสอบระบบการเดินเครื่องทางเทคนิครองรับการเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มดิบเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเป็นวันละ 1,500 ตัน เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะใช้น้ำมันปาล์มดิบได้หมดภายในต้นเดือนมิถุนายน 2562 ซึ่งเร็วขึ้นประมาณ 2 เดือน จากเดิมที่กำหนดไว้ปลายเดือนกรกฎาคม 2562
ในส่วนการรับซื้อน้ำมันปาล์มนั้น มีผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้ กฟผ. จำนวนทั้งสิ้น 31 ราย รวมปริมาณ 155,000 ตัน โดย กฟผ. ได้ดำเนินการจัดทำสัญญาร่วมกับผู้จำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบเรียบร้อยแล้ว ปริมาณ 126,000 ตัน คงเหลือปริมาณที่อยู่ระหว่างการจัดทำสัญญา 29,000 ตัน และอยู่ระหว่างกรมการค้าภายในจะแจ้งมาอีก 5,000 ตัน ซึ่งจะทำให้ครบ 160,000 ตัน ทั้งนี้ กฟผ. ได้รับมอบน้ำมันปาล์มดิบแล้วจำนวน 42,000 ตัน โดยใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ วันละ 1,000 ตัน รวมปริมาณที่ใช้เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว 34,000 ตัน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มี.ค.62) และอยู่ระหว่างการส่งมอบ 118,000 ตัน นอกจากนั้น กฟผ. กำลังดำเนินการพิจารณาเพิ่มจุดรับซื้อเพิ่มเติมที่คลัง จ.สุราษฎร์ธานี โดยจะเร่งดำเนินการชำระเงินให้แก่โรงสกัดที่จัดทำเอกสารเรียกเก็บเงินครบถ้วนให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันทำการ (จากเดิม 15 วันทำการ) เพื่อให้โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มมีความสามารถในการรับซื้อผลปาล์มทะลายจากเกษตรกรได้มากขึ้น
สำหรับความคืบหน้าในมาตรการที่จะให้ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ(CPO)จำนวน1แสนตันไปผลิตเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์บี100 เพื่อส่งออก นั้น นายศิริ กล่าวว่า จะเสนอให้มีการนำเงินจากภาครัฐไปสนับสนุนการส่งออกดังกล่าว เพราะเป็นมาตรการที่ภาครัฐขอให้ ปตท. มาร่วมช่วยเหลือเกษตรกร โดยราคารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากเกษตรกรจะเป็นราคาเดียวกับที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยรับซื้อที่ราคา 18 บาทต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้คาดหวังว่าทั้งมาตรการนำน้ำมันปาล์มไปผลิตไฟฟ้าและนำไปผลิตB100 เพื่อส่งออกจะช่วยดันราคาผลปาล์มให้สูงกว่า3 บาทต่อกิโลกรัมได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต
นายศิริ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมามาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการ ได้ช่วยให้ราคาผลปาล์มเคยขยับไปถึง 3 บาทต่อกิโลกรัม ได้เพียง 1 สัปดาห์ จากนั้นก็ตกลงมาอยู่ที่ 2.20 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน ซึ่งน่าผิดหวังแต่ก็จะไม่ละความพยายามที่จะทำต่อไป