ปตท. คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสัปดาห์นี้ (15-19 พ.ย. 2564) ราคามีแนวโน้มเคลื่อนไหวระหว่าง 80 – 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ท่ามกลางปัจจัยความต้องการที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นต่อเนื่องหลังจากหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทาง (จากการแพร่ระบาดของโควิด-19) ในขณะที่ตลาดได้รับแรงกดดันจากการระบายสต็อกและการผลิตน้ำมัน shale oil ในสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเพิ่มมากขึ้น
ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุตลาดน้ำมันเคลื่อนไหวผันผวนในสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยราคาน้ำมันดิบ ICE Brent เฉลี่ยรายสัปดาห์ปรับตัวเพิ่มขึ้นในรอบ 2 สัปดาห์ เนื่องจากอุปสงค์น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง หลังจากการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางในหลายๆ ประเทศ โดย OPEC คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกปี 2564 เพิ่มขึ้น 5.65 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 96.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปี 2565 เพิ่มขึ้น 4.15 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 100.59 ล้านบาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ EIA ซึ่งคาดการณ์อุปสงค์น้ำมันโลกปี 2564 เพิ่มขึ้น 5.12 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 97.53 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปี 2565 เพิ่มขึ้น 3.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนหน้า อยู่ที่ 100.88 ล้านบาร์เรลต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบอาจได้รับแรงกดดันจากการระบายน้ำมันจากคลังสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve – SPR) ของสหรัฐฯ และการคาดการณ์ของนาย Marco Dunand ประธานบริษัทค้าน้ำมัน Mercuria Energy Trading ว่าสหรัฐฯ จะเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน Shale Oil เพื่อชดเชยความต้องการใช้ รวมถึงค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นส่งผลกดดันราคาน้ำมัน โดยล่าสุดวันที่ 12 พ.ย. 64 ดัชนีดอลลาร์สหรัฐฯ ปิดตลาดที่ 95.13 จุด แข็งค่าที่สุดตั้งแต่ ก.ค. 63
ด้านเทคนิค สัปดาห์นี้ราคา ICE Brent มีแนวโน้มอยู่ในกรอบ 80 – 85 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และมีโอกาสที่ ICE Brent จะขึ้นไปทดสอบแนวต้านสำคัญ คือ 86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อราคาน้ำมันในเชิงบวกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือ กรณีที่ EIA รายงานว่า โรงกลั่นในสหรัฐฯ นำน้ำมันดิบเข้ากลั่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 พ.ย. 64 เพิ่มขึ้น 0.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 15.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน และอัตราการกลั่น (Refinery Utilization) เพิ่มขึ้น 0.4% จากสัปดาห์ก่อนหน้า อยู่ที่ 86.7% ของกำลังการกลั่นรวม ส่วนปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ ได้แก่กรณีที่บริษัท Rosneft ของรัสเซีย รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 เพิ่มขึ้น 3.2% จากไตรมาสก่อนหน้า มาอยู่ที่ 3.98 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดย Rosneft ตั้งเป้าเพิ่มการผลิตสู่ระดับก่อนเกิด COVID-19 ที่ 4.30 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในปี 2565
–