ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายน ปรับตัวลดลง จากความกังวลว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ร้องภาครัฐคงมาตรการดูแลราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายน ปรับตัวลดลง จากความกังวลว่าราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ร้องภาครัฐคงมาตรการดูแลราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการ
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ประจำเดือนกันยายน 2561 จำนวน 1,204 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 31.6, 39.0, 29.4 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 35.5,17.8,14.7,18.8 และ 13.2 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 82.1 และ 17.9 ตามลำดับ
โดย ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ระดับ 91.5ปรับตัวลดลงจากระดับ 92.5 ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่ลดลง เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
โดยจากการสำรวจพบว่า ในเดือนกันยายน ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ขณะที่ผู้ประกอบการส่งออกเห็นว่า เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับภูมิภาคทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง รวมทั้งปัญหาความแออัดของท่าเรือที่ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้า ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเห็นว่าข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน มีแนวโน้มจะยืดเยื้อ
โดยเมื่อจำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนกันยายน 2561 จากการสำรวจ พบว่า ขณะที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม
อย่างไรก็ตาม พบว่า ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นและ ดัชนีฯ มีค่าเกินระดับ 100 สะท้อนมุมมองต่อการประกอบการในระดับที่ดี ซึ่งพบว่า ผู้ประกอบการสามารถวางแผนควบคุมการผลิตและบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันความเชื่อมั่นด้านการส่งออก ยังมีทิศทางที่ดีสะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม และอุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวลดลงจากเดือนสิงหาคมจากความกังวลเรื่องต้นทุนดังกล่าวข้างต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 106.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 105.6 ในเดือนสิงหาคม จากความชัดเจนของภาครัฐเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง ประกอบกับช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 อุปสงค์ของสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
ทั้งนี้ ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ โดยขอให้ภาครัฐคงมาตรการในการดูแลราคาน้ำมันดีเซล ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการ และเสนอให้ภาครัฐใช้ประโยชน์จากสงครามการค้าในการเชิญนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ และให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับแรงงานไทย