รัฐ เร่งประสาน เชฟรอน และ ปตท.สผ.ปลดล็อก​ปัญหาแหล่งก๊าซเอราวัณ

300
- Advertisment-

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ย้ำเร่งประสานการเข้าพื้นที่
แหล่งเอราวัณ ระบุอยากให้ทุกฝ่ายทั้ง เชฟรอน และ ปตท.สผ.หันหน้าร่วมมือกันอย่างจริงใจ โดยความล่าช้าที่ทำให้ระยะเวลาเหลืออีกเพียง 9 เดือน อาจจะทำให้ ปตท.สผ. อีดี ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานรายใหม่ผลิตก๊าซไม่ได้ 800 ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวันอย่างต่อเนื่อง ตามเงื่อนไขการประมูลที่ตกลงไว้กับรัฐ

จากกรณีความห่วงกังวลเกี่ยวกับความล่าช้าในการเข้าพื้นที่เพื่อเตรียมการผลิตของบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ.อีดี) ในแปลง G1/61 (แหล่งกลุ่มเอราวัณเดิม) เนื่องจากยังเจรจาหาข้อยุติไม่ได้กับบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด ผู้รับสัมปทานรายเดิมโดยมีเวลาเหลืออยู่อีกประมาณ 9 เดือนก่อนวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน วันที่ 23 เมษายน 2565 นั้น

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ประสานให้บริษัท ปตท.สผ. อีดี ผู้ดำเนินงานรายใหม่ ในแปลง G1/61 ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และ บริษัท เชฟรอนฯ ผู้รับสัมปทานรายเดิม มาหารือร่วมกันไม่น้อยกว่า 30 ครั้ง ทั้งในระดับผู้บริหารองค์กร และในระดับปฏิบัติการ เพื่อให้การดำเนินงานในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) เป็นไปอย่างราบรื่น โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ซึ่งผลที่ได้ถือว่าดำเนินงานสำเร็จไปพอสมควร สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้ในหลายๆ ประเด็น เช่น การเข้าพื้นที่เพื่อเก็บตัวอย่าง การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม การสำรวจพื้นที่เบื้องต้นเพื่อติดตั้งแท่นหลุมผลิต เป็นต้น

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม ด้วยความซับซ้อนในการดำเนินงานช่วงเปลี่ยนผ่านจึงยังมีอีกหลายประเด็นที่ยังต้องหาข้อตกลงที่เหมาะสมร่วมกันให้ได้ โดยกุญแจสำคัญที่จะทำให้ความพยายามในการประสานการเจรจาของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติประสบความสำเร็จนั้น ก็คือทั้งผู้ดำเนินงานรายปัจจุบันและรายใหม่จะต้องร่วมมือกันอย่างจริงใจและเร่งด่วนให้ได้ข้อตกลงร่วมกันเพื่อให้การผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชน

ทั้งนี้ บริษัท ปตท.สผ. อีดี ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลและจะเป็นผู้ดำเนินงานรายใหม่ในแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณหลังจากสัมปทานของ บริษัทเชฟรอนฯ หมดอายุลงในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 จะต้องผลิตก๊าซธรรมชาติให้ได้ในอัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามเงื่อนไขการประมูล แต่ด้วยความล่าช้าในการเข้าพื้นที่ อาจทำให้บริษัทไม่สามารถผลิตปิโตรเลียมได้อย่างต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy​ News Center-ENC​ )​ รายงานว่า รัฐยังไม่ได้มีการสรุปตัวเลขที่ชัดเจนออกมาว่าในวันที่ ปตท.สผ.อีดี เริ่มดำเนินการตามสัญญานั้น จะสามารถผลิตก๊าซได้วันละเท่าไหร่ ซึ่งหากไม่เป็นไปตามสัญญาจะต้องมีการจ่ายค่าปรับให้รัฐอย่างไร ในขณะที่รัฐก็จะได้ผลตอบแทนจากค่าภาคหลวง และผลประโยชน์จากรายได้ที่มาจากการแบ่งปันผลผลิตลดลงด้วย

นอกจากนี้หากไม่มีความต่อเนื่องในการผลิต จะกระทบต่อปริมาณสำรองก๊าซ หรือ Proved Reserves ที่จะตกค้างอยู่ก้นหลุม โดยไม่สามารถนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้เป็นปริมาณเท่าไหร่ โดยหากมีปริมาณมากก็จะเป็นการสูญเสียโอกาสการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรก๊าซของประเทศ

รวมทั้งในส่วนของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือLNG เข้ามาทดแทน หากช่วงที่นำเข้ามามีระดับราคาที่สูงกว่าก๊าซที่ผลิตได้จากอ่าวไทยมาก ประชาชนก็จะต้องรับภาระค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นด้วย

Advertisment