สนพ. แจงรัฐแก้ไขปัญหาสำรองไฟฟ้า (Reserve Margin) ประเทศสูงอย่างเป็นระบบ เตรียมปลดโรงไฟฟ้าเก่าที่มีประสิทธิภาพต่ำออกจากระบบ เพื่อให้สามารถสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงได้อย่างเต็มที่ พร้อมเปิดให้มีการแข่งขันในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากผู้นำเข้าหรือ Shipper หลายราย โดยเป็นการใช้กลไกตลาดให้เกิดการแข่งขันด้านราคานำเข้า LNG ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลดลง
วันนี้ (24 กันยายน 2563) นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจ เรื่อง กรณีมีการนำเสนอผ่านสื่อถึง มติ กบง. เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2563 ที่ได้สั่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เร่งการเจรจาชะลอหรือเลื่อนโรงไฟฟ้าใหม่เข้าระบบเพื่อหวังลดสำรองไฟฟ้าที่สูงถึง 37 – 40% ว่าประเด็นดังกล่าว อาจจะทำให้ประชาชนผู้รับข่าวสารเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง ซึ่งในการแก้ไขปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) สูงนั้น กระทรวงพลังงาน จะพิจารณาแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบ โดยจะคำนึงถึงการนำไปสู่การบริหารจัดการระบบไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ลดต้นทุนของประเทศ
โดยมีแนวทางในการพิจารณาปลดโรงไฟฟ้าเก่าที่มีประสิทธิภาพต่ำออกจากระบบ เพื่อให้สามารถสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงได้อย่างเต็มที่ รวมถึง จะดำเนินการให้โรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) และมีกำหนด
จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ชัดเจนแล้ว ให้สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้ตามเวลา ที่กำหนดไว้แล้วในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนของประเทศโดยรวมอีกด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงพลังงาน ยังจะพิจารณาแนวทางการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปด้านพลังงานในการเปิดให้มีการแข่งขันในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากผู้นำเข้าหรือ Shipper หลายราย โดยเป็นการใช้กลไกตลาดส่งเสริมการแข่งขันด้านราคานำเข้า LNG ทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าลดลง ส่งผลให้มีราคาค่าไฟฟ้าถูกลงด้วย ทั้งนี้ หากดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวได้ จะทำให้ประเทศไทยมีต้นทุนทางด้านพลังงานลดลง อันจะช่วยเพิ่มขีดความสามรถในการแข่งขันของประเทศในที่สุด ดังนั้น ในประเด็นที่กล่าวข้างต้น กระทรวงพลังงาน ถือเป็นนโยบายสำคัญที่ต้องดำเนินการต่อเนื่องตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 โดยเร็ว โดยจะเห็นแนวทางชัดเจนภายใน 2 เดือนสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง นายวัฒนพงษ์ กล่าว