รัฐและเอกชน ลงนามร่วมมือผลิตพืชพลังงานป้อนโรงไฟฟ้าชุมชน ตั้งเป้าเพิ่มอีก 500 MWภายใน10ปี

686
- Advertisment-

พลังงาน-เกษตรฯ-ทรัพยากรฯ และ ส.อ.ท. ลงนามร่วมบูรณาการผลักดันการผลิตพืชพลังงานป้อนโรงไฟฟ้าชุมชน ตั้งเป้าเพิ่มโรงไฟฟ้าชุมชนอีก 500 เมกะวัตต์ภายใน 10 ปีข้างหน้า หวังเกษตรกรมีรายได้มั่นคง และเป็นโรงไฟฟ้าสะอาดช่วยลดโลกร้อน

เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 หน่วยงานภาครัฐ 3 กระทรวงและ 1 หน่วยงานเอกชน ร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือสร้างความมั่นคงอย่างยั่งยืนให้แก่เกษตรกร ด้วยการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากพืชพลังงานเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยเป็นการลงนามระหว่างกระทรวงพลังงาน,กระทรวงเกษตรและสหกรณ์,กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามระหว่าง 4 หน่วยงานดังกล่าว

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ ถือเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานรัฐและเอกชนเป็นครั้งแรกที่จะผลักดันให้โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากเดินหน้าต่อไปให้ได้ตามเป้าหมาย 500 เมกะวัตต์ในอีก 10 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่เริ่มนำร่องไปแล้ว 150 เมกะวัตต์ ในปี 2564 นี้ แต่ยังมีข้อปรับปรุงที่ต้องให้เกิดความชัดเจนมากขึ้นในโครงการเฟสต่อไป โดยทั้ง 4 หน่วยงานจะเข้ามาร่วมกันทำงานเพื่อให้เกษตรกรไทยและประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด

- Advertisment -

ทั้งนี้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำร่อง) 150 เมกะวัตต์ ได้เปิดประมูลไปเมื่อเดือน ก.ย. 2564 ที่ผ่านมา โดยมีผู้ชนะประมูล 43 ราย กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 149.50 เมกะวัตต์ โดยยอมรับว่าราคาประมูลค่าไฟฟ้ายังแพงไปบ้าง(ราคาประมูลเฉลี่ย 3.1831 บาทต่อหน่วย) แต่เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ และการผลิตพลังงานสะอาด ถือว่าเป็นโครงการที่ประสบผลสำเร็จ

โดยเกษตรกรมีรายได้จากการรวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อปลูกพืชพลังงานขายเป็นวัตถุดิบให้กับโรงไฟฟ้าชุมชน และยังได้หุ้นร่วมกัน 10% ของโครงการและยังได้รับการแบ่งปันรายได้จากการขายไฟฟ้าด้วย ขณะเดียวกันประเทศก็ได้ประโยชน์จากการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐบาลที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ.2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ในปี ค.ศ.2065 ที่ไทยได้ประกาศไว้บนเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้นับเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับเกษตรกรไทย และถือเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญสำหรับภาคการเกษตร ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อประโยชน์ของเกษตรกรไทยที่มีอยู่ประมาณ 38-40 ล้านคนทั่วประเทศ หากเกษตรกรสามารถปลูกพืชในพื้นที่เหมาะสมและจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงได้ จะช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้เกษตรกรและในอนาคตภาครัฐก็สามารถลดการอุดหนุนภาคเกษตรลงได้ จากการที่เกษตรกรสามารถพึ่งพาตัวเองและมีรายได้มั่นคง

ปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯ มีแนวทางการส่งเสริมการเกษตรที่เหมาะสม ตามฐานข้อมูลแผนที่เกษตรเชิงรุก (Agri – Map) 77 จังหวัด โดยจะสนับสนุนให้ปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสม เพื่อสร้างผลผลิตให้สูงขึ้นและรายได้ที่มั่นคง รวมทั้งนำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาจำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงให้โรงไฟฟ้าชุมชนได้ด้วย

โดยความร่วมมือครั้งนี้ทางกระทรวงเกษตรฯ จะเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร การขึ้นทะเบียนเกษตรกร จดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ตลอดจนสนับสนุนการผลิตสินค้าเกษตรตาม Agri-Map ขณะที่กระทรวงพลังงานจะเป็นหน่วยงานหลักในการพัฒนาและบริหารจัดการพลังงาน จัดทำแผนส่งเสริมและข้อมูลที่ตั้งของโรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความต้องการเชื้อเพลิงจากพืชพลังงานเพื่อผลิตพลังงานความร้อนเพิ่มเติม ข้อมูลความต้องการและวัตถุดิบจากพืชพลังงานในแต่ละภูมิภาค ตลอดจนวิจัยและพัฒนาพลังงานทางเลือกจากผลผลิต และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร

ส่วนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะส่งเสริมการปลูกสร้างสวนป่าเชิงเศรษฐกิจ สนับสนุนข้อมูลเกี่ยวกับไม้เศรษฐกิจโตเร็วที่มีศักยภาพเพื่อเป็นวัตถุดิบให้แก่แหล่งผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน รวมทั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความต้องการเชื้อเพลิงจากพืชพลังงาน สนับสนุนกล้าไม้ การวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากไม้เศรษฐกิจโตเร็ว ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจะร่วมประสานนโยบายและดำเนินการร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมและพัฒนา รวมถึงศึกษาและหาทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการประกอบอุตสาหกรรมเกษตรและโรงไฟฟ้าจากพืชพลังงาน สนับสนุนการวิจัย อบรม เผยแพร่วิชาการและเทคโนโลยีเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเกษตรและแหล่งผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อนจากพืชพลังงาน โดยเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน รวมถึงให้คำปรึกษาและเสนอแนะแก่ภาครัฐและผู้ที่เกี่ยวข้อง

Advertisment