รัฐเร่งขับเคลื่อนการลดใช้พลังงานภาคขนส่ง ให้ได้ตามเป้า 17,682.39 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ(ktoe) ภายในปี 2580 ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน EEP2018 สอดคล้องกับทิศทางโลกที่หลายประเทศตั้งเป้าลดปล่อยก๊าซคาร์บอนฯเป็นศูนย์ หนุนยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สู่เป้าหมาย 2 ล้านคัน ในปี 2573 พร้อมสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ได้ถึง 12,000 หัวจ่าย ด้านนักวิชาการ แนะ 4 ภาคส่วน รัฐ-เอกชน-นักวิชาการ-ประชาชน ต้องร่วมบูรณาการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
วันนี้ (23 ก.ค. 2564) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) จัดสัมมนาการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่งและทิศทางขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า ในโครงการติดตามและประเมินผลการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่งภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน โดยมีตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ และนักวิชาการร่วมบรรยายผ่านระบบออนไลน์
นายวัชรินทร์ บุญฤทธิ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวในหัวข้อการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่งและทิศทางการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าว่า แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2561-2580 (EEP2018) กำหนดเป้าหมายผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนให้ได้ 4,000 เมกะวัตต์ และลดการใช้พลังงานลง 30% ภายในปี 2580 ซึ่งมาจาก 1.การลดการใช้พลังงาน 49,064 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ (ktoe) ซึ่งปัจจุบันสามารถลดได้แล้ว 5,307 ktoe และ2.ลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(Peak)ลง 4,000 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่าภาคขนส่งเป็นภาคที่ใช้พลังงานมากที่สุด ดังนั้นในแผน EEP2018 จึงกำหนดเป้าหมายการลดใช้พลังงานภาคขนส่งให้ได้ 17,682.39 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ(ktoe) ในปี 2580 ใน 4 โหมดการขนส่ง ได้แก่ 1.ทางถนน ลดการใช้พลังงานลงให้ได้ 11,775.64 ktoe, ทางราง 3,505.95 ktoe, ทางอากาศ 1,167.69 ktoe และทางน้ำ 1,233.11 ktoe
โดย พพ. ได้จัดทำแผนอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งทั้ง 4 โหมด (ทางถนน,ทางราง,ทางอากาศและทางน้ำ)ได้แก่ 1.มาตรการสำหรับประหยัดพลังงานในโหมดทางถนน ได้แก่ มาตรการภาษีสรรพสามิต และEco Sticker เป็นการเก็บภาษีรถยนต์ตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.2559-พ.ค. 2564 มีรถที่ได้รับ Eco Stricker หรือป้ายแสดงข้อมูลของรถยนต์ตามมาตรฐานสากลแล้ว 4.9 ล้านคัน ช่วยให้เกิดผลประหยัดพลังงานได้ 188.18 ktoe ,มาตรการติดฉลากแสดงประสิทธิภาพยางรถยนต์ ,มาตรการการบริหารจัดการระบบขนส่ง, มาตรการขับขี่ประหยัดพลังงาน,มาตรการเงินทุนหมุนเวียนและเงินอุดหนุนการประหยัดพลังงานภาคขนส่ง,รถไฟทางคู่,มาตรการขนส่งน้ำมันทางท่อ และยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เป็นต้น
2.มาตรการสำหรับการอนุรักษ์พลังงานในการขนส่งทางน้ำ ได้แก่ มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพเครื่องจักรและอุปกรณ์และการสนับสนุนเพิ่มประสิทธิภาพของเรือขนส่ง,มาตรการพัฒนาทักษะการควบคุมเรือและเครื่องจักรเพื่อการประหยัดพลังงาน และมาตรการยกระดับประสิทธิภาพการบริหารโลจิสติกส์ เป็นต้น
3.มาตรการอนุรักษ์พลังงานในการขนส่งทางอากาศ ได้แก่ การเปลี่ยนหลอดไฟส่องสว่างที่ท่าอากาศยานเป็น LED,ปรับปรุงกรอบอาคาร,การเปลี่ยนมาใช้รถ Shuttle Bus และบริหารจัดการระบบสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการประหยัดพลังงาน เป็นต้น และ4. มาตรการอนุรักษ์พลังงานในการขนส่งทางราง ได้แก่ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งรถไฟทางคู่ เป็นต้น
นางสาวนุจรีย์ เพชรรัตน์ ผู้อำนวยการกองนโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวในหัวข้อนโยบายส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทยว่า ทั่วโลกกำลังมุ่งสู่เป้าหมายการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็นศูนย์ ดังนั้นส่งผลให้หลายประเทศหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV)มากขึ้น โดยข้อมูลจากบลูมเบิร์กคาดว่าในปี 2583 จะมีรถ EV มากถึง 50 ล้านคันและจะทำให้ราคารถ EV ถูกลงมาก โดยประเทศไทยกำหนดให้หลังจากปี 2563 จะลดการใช้พลังงานลง 20-25% ของการใช้พลังงานทุกภาคส่วน
สำหรับประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่อันดับ 11 ของโลก และเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย มีมูลค่าส่งออก 1.09 ล้านล้านบาท หรือ 6.4% ของมูลค่าเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งไทยให้ความสำคัญกับทิศทางของรถEV เช่นกัน โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยกำหนดยุทธศาสตร์ให้ไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก และกำหนดเป้าหมายให้มีรถยนต์และรถกระบะเป็น EV ในปี 2568 จำนวน 0.4 ล้านคัน และมีสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charge ให้ได้ 2,200-4,400 หัวจ่าย และในปี 2573 จะต้องมีรถ EV เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคัน และมีสถานีอัดประจุไฟฟ้า 12,000 หัวจ่าย
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า รถEV ในไทยปัจจุบันนิยมชาร์จไฟฟ้าจากบ้านเรือนถึง 80% และชาร์จในที่ทำงาน 15% ส่วนชาร์จตามปั๊มหรือพื้นที่สาธารณะมีเพียง 5% ดังนั้นเพื่อรองรับการเติบโตของรถ EV รัฐบาลจึงต้องเร่งให้มีการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะหรือในปั๊มให้มากขึ้น
พร้อมกันนี้ได้กำหนดมาตรการระยะเร่งด่วนที่จะดำเนินการได้แก่ 1.การออกแบบอัตราค่าไฟฟ้าที่จูงใจให้เกิดการลงทุนในสถานีอัดประจุไฟฟ้าและไม่เป็นภาระต่อระบบไฟฟ้า 2. กำหนดนโยบายการติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะสำหรับเครื่องอัดประจุไฟฟ้า 3.พัฒนาแพลตฟอร์มบูรณาการและเชื่อมโยงข้อมูล และ4.จัดทำรูปแบบธุรกิจร่วมกันระหว่างการไฟฟ้ากับหน่วยงานเอกชนในการเชื่อมโยงสถานีอัดประจุและยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อบริหารจัดการระบบไฟฟ้า
นายยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนและหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า จากข้อมูลของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEA ) คาดการณ์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ภายในปี ค.ศ. 2030 จะมีเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 140 ล้านคัน จากใน ปี ค.ศ. 2020 ที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคันทั่วโลก
“ตลาดรถอีวีในปี ค.ศ. 2019-2020 พบว่า ยอดรถใหม่ที่เป็น EVเติบโตมากขึ้น เมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไป แม้ว่าจะเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19”
สำหรับสถิติการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย.2564 พบว่า มียานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท อยู่ที่ 7,250 คัน ส่วนใหญ่เป็นรถมอเตอร์ไซค์ อยู่ที่ 4,108 คัน รถยนต์นั่ง อยู่ที่ 2,769 คัน รถตุ๊กตุ๊ก 250 คัน รถบัส 122 คัน และรถบรรทุก 1 คัน ซึ่งเติบโตขึ้นต่อเนื่อง จากสถิติการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ในปี 2563 อยู่ที่ 5,685 คัน เติบโตขึ้น 100% จากปี 2562
นายยศพงษ์ กล่าวอีกว่า การจะส่งเสริมเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่( Mobility Technology) ให้เกิดประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีความร่วมมือเพื่อนำไปสู่โซลูชั่นการทำงานร่วมกัน(collaborative solutions) โดยภาครัฐ จะต้องกำหนดนโยบาย แก้ไขกฎระเบียบ สนับสนุนทางการเงิน ภาคเอกชน จะต้องดำเนินการผลิตและบริการที่ใช้งานได้จริงและมีราคาที่เหมาะสม ภาควิชาการ จะต้องศึกษาวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี พัฒนาบุคลากรของประเทศ ขณะที่ภาคประชาชน ควรตระหนักรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดขึ้นของสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่มากขึ้นในอนาคต