รัฐเตรียมเดินหน้ารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ เข้าระบบปี 65

2154
cof
- Advertisment-

รัฐเตรียมเดินหน้าโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ตามที่ระบุไว้ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 หรือ AEDP2018  และ PDP 2018 Rev.1 หลังจาก ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ไปเมื่อ 20 ต.ค. 2563  โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีกำหนดเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ที่เทศบาลนครภูเก็ต 2 พ.ย.นี้   ซึ่งคาดว่าคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จะมีการออกประกาศรับซื้อในเร็วๆนี้ เพื่อให้โรงไฟฟ้าจ่ายไฟเข้าระบบได้ตามแผนในปี 2565

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center -ENC) รายงานว่า หลังจากที่ คณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 มีมติเห็นชอบร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก พ.ศ. 2561 – 2580 (Alternative Energy Development Plan 2018 หรือ AEDP2018)  และร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ตามที่นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เสนอ  โดยแผนดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 1/2563 (ครั้งที่ 150) มาตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2563 แล้วนั้น ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องใช้แผนดังกล่าวเป็นแนวปฏิบัติอย่างเป็นทางการแทนแผนฉบับเดิม

โดยประเด็นที่น่าสนใจ คือการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในปริมาณ 400 เมกะวัตต์ ที่ระบุไว้ในแผนAEDP2018  ในขณะที่ แผนPDP 2018 Rev.1 กำหนดกรอบระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน เอาไว้ในปี 2565  ทั้ง400 เมกะวัตต์  ซึ่งการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนนั้น ในเร็วๆนี้ ทางนายสุพัฒนพงษ์  พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะต้องกำหนดเป็นนโยบายออกมา เพื่อให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) เร่งออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน

- Advertisment -
แผนAEDP2018
โรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน มีกำหนดเข้าระบบในปี 2565 ปริมาณ 400 เมกะวัตต์ตามที่ระบุในแผน PDP2018 rev1

โดยในวันที่ 2 พ.ย.นี้ นายสุพัฒนพงษ์ มีกำหนดการที่จะเดินทางไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชนของเทศบาลนครภูเก็ต

อย่างไรก็ตามในแนวทางการดำเนินการโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชนที่ทางกระทรวงพลังงานและกระทรวงมหาดไทย เคยมีข้อตกลงเบื้องต้นกันไว้ ก่อนหน้านี้ คือ ทางกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้กำหนดนโยบายและให้ กกพ.ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามนโยบาย โดยทางกระทรวงมหาดไทย จะเป็นผู้คัดเลือกเอกชนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ กกพ.พิจารณาตามลิสต์รายชื่อที่นำเสนอ  ส่วนจะมีการปรับเปลี่ยนแนวทางหรือไม่อย่างไรนั้นต้องรอให้นายสุพัฒนพงษ์ เป็นผู้พิจารณา

สำหรับแผน AEDP 2018 นั้น มีการกำหนดเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก รวม 18,696 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้ 52,894 ล้านหน่วย ซึ่งจะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งประเทศ ณ ปี พ.ศ. 2580 เป็น 34.23% ซึ่งมากกว่าแผน AEDP2015 ที่ตั้งไว้ที่ 20.11% ในปี พ.ศ. 2579 ได้แก่

1.พลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิต 9,290 เมกะวัตต์
2.พลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ กำหนดเป้าหมาย 2,725 เมกะวัตต์
3.ชีวมวล กำหนดเป้าหมาย 3,500 เมกะวัตต์
4.พลังงานลม กำหนดเป้าหมาย 1,485 เมกะวัตต์
5.ก๊าซชีวภาพ (น้ำเสีย/ของเสีย)กำหนดเป้าหมาย 183 เมกะวัตต์
6.ก๊าซชีวภาพ (พืชพลังงาน)กำหนดเป้าหมาย 1,000 เมกะวัตต์
7.ขยะชุมชน กำหนดเป้าหมาย 400  เมกะวัตต์
8.ขยะอุตสาหกรรม กำหนดเป้าหมาย 44  เมกะวัตต์
9.พลังน้ำขนาดเล็ก กำหนดเป้าหมาย 69  เมกะวัตต์

 

Advertisment