วิกฤติโควิด-19 ส่งผลต่อความต้องการใช้พลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมันลดลงอย่างมีนัยสำคัญต่อ ผู้บริโภค และองค์กรภาครัฐและธุรกิจเอกชนจนต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่ระบาด กลายเป็นวิถีความปกติแบบใหม่ หรือ New Normal ทำให้ กระทรวงพลังงาน เตรียมปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ PDP ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เน้นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ให้ประชาชน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนด้านพลังงาน ปรับตัว มุ่งใข้พลังงานทดแทน ก๊าซ LNG และนำระบบเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้มากขึ้น
วันที่ 17 ก.ย. 2563 สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี Energy Symposium 2020 ในหัวข้อ อุตสาหกรรมไทยกับการปรับตัว New Normal ด้านพลังงาน โดยมีตัวแทนหน่วยงานกระทรวงพลังงานและเอกชนร่วมให้ข้อมูลและแสดงความเห็นผ่านระบบออนไลน์
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ยอมรับว่า ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดใช้พลังงานลดลงมาก โดยเฉพาะการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงเป็นเหตุให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าพุ่งสูงถึง 37-40% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าจริง กลายเป็นภาระที่ประชาชนต้องร่วมกันแบกรับ นอกจากนี้การใช้น้ำมันในภาคขนส่งยังปรับตัวลดลง ราคาต้นทุนการผลิตเชื้อเพลิงจากพืชพลังงานก็ปรับสูงขึ้นกว่าเชื้อเพลิงหลัก เป็นต้น
ดังนั้นแผนพลังงานของประเทศจึงต้องมีการปรับตัว รองรับวิถีใหม่( New Normal) ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่เกิดขึ้นจริง ภายใต้โจทย์สำคัญคือ ต้องเป็นแผนที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและการลงทุนของประเทศ รวมถึงการใช้กลไกที่กระทรวงมีอยู่คือ กองทุนต่างๆ มาช่วยก่อให้เกิดการจ้างงานและ สร้างรายได้
นอกจากนี้ยังต้องจัดทำแบบจำลองต่างๆ เพื่อลดปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศที่ขณะนี้มีสูงเกินไป ซึ่งเป็นได้ทั้งการเลื่อนเวลาโรงไฟฟ้าเข้าระบบ การชะลอรับซื้อไฟฟ้า ทั้งนี้ต้องดูตัวเลขคาดการณ์ความเติบโตเศรษฐกิจประเทศประกอบการพิจารณาด้วย เบื้องต้นเห็นว่าหากยังไม่มีวัคซีนป้องกันโควิด-19 การใช้ไฟฟ้าอาจชะลอตัวมากกว่า 1 ปีก็ได้
ขณะเดียวกันต้องเตรียมพร้อมรองรับเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า( EV) ระบบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ( สมาร์ทกริด) ระบบแบตเตอรี่ และวิถีชีวิตที่พึ่งพิงดิจิทัลมากขึ้นด้วย
นายบุรณิน รัตนสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า โลกผ่านจุดที่ราคาน้ำมันต่ำสุดจากปัญหาโควิด-19 ไปแล้ว จากที่ราคาลดต่ำลงมากกว่า 20 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 40-45 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ในขณะนี้ แต่เชื่อว่าจะยังไม่กลับมาในระดับ 60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เหมือนก่อนเกิด โควิด-19 เมื่อปี 2562 ได้ง่ายนัก เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่สามารถฟื้นตัวได้รวดเร็ว
โดยมองว่าอนาคตโลกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการพลังงาน ทั้งการมาถึงของระบบสมองกลอัจฉริยะ(AI) ทั้งการลดต้นทุนการผลิตน้ำมัน , การนำน้ำมันไปทำวัตถุดิบตั้งต้นด้านปิโตรเคมีมากขึ้น ,การนำ AI มาแมชชิ่ง ในด้านการซื้อขายน้ำมัน แต่ผู้ประกอบการยังต้องมีการบริหารความเสี่ยงที่ดี และผู้ประกอบการหลายค่ายเริ่มหันไปสู่ธุรกิจพลังงานสีเขียวมากขึ้น
ในส่วนของ ปตท. ยังมองว่าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ยังคงเป็นพลังงานสะอาดและเป็นพลังงานหลักของประเทศต่อไป ดังนั้นจะมีการลงทุนตั้งแต่การจัดหา การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การขยายตลาด LNG ไปยังอาเซียนและเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ในอาเซียนต่อไป
นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ไทยผ่านจุดต่ำสุดของการใช้ไฟฟ้าไปแล้วเมื่อเดือนพ.ค. 2563 ที่ผ่านมา ที่ความต้องการใช้สูงสุด(พีค)มีเพียง 28,000 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่พีคอยู่ระดับ 31,000 เมกะวัตต์ หรือลดลง 3,000 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามมองว่าในอนาคตโลกจะเน้นเรื่องการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดมากขึ้น ซึ่ง กฟผ.จะต้องปรับตัวสู่ New Normal ด้านไฟฟ้า โดยเตรียมพร้อมทั้งการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่(Big Data) เตรียมระบบสายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะ ศูนย์พยากรณ์ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน การทำแพลตฟอร์มการซื้อขายไฟฟ้าร่วมกันทั้ง 3 การไฟฟ้า และการทำdemand response เป็นต้น
นอกจากนี้ตัวเลขปริมาณสำรองไฟฟ้าที่สูงมากขึ้นนั้น ทาง กฟผ.ก็มีแนวทางจะเชื่อมโยงเครือข่ายไฟฟ้าไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อเอาพลังงานส่วนเกินไปขายหรือใช้ให้เกิดประโยชน์
นายศิริเมธ ลี้ภากรณ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กรและบริหารบริษัทในเครือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี มองว่า นโยบายภาครัฐจะหนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โรงไฟฟ้าใหม่ที่เป็นพลังงานทดแทนจะมีมากขึ้น และเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยน ต้นทุนถูกลง การขยายตัวของโปรซูเมอร์หรือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายเข้าระบบจะมีมากขึ้น ทำให้อนาคตจะเห็นโรงไฟฟ้าขยาดย่อยกระจายทั่วไป และส่งผลให้ระบบไฟฟ้าไม่เสถียร เพราะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนควบคุมได้ยาก
โดยทิศทางโลกหลังปี ค.ศ. 2035 พลังงานทดแทนจะเป็นพลังงานหลักแทนโรงไฟฟ้าถ่านหินและ ก๊าซฯ ดังนั้นการพัฒนาในอนาคตที่สำคัญคือเรื่องของแบตเตอรี่ ที่จะเป็นตัวช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับไฟฟ้าพลังงานทดแทนได้ ดังนั้น GPSC จึงหันมาลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่เองซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปี 2564 และพัฒนาสู่การซื้อขายแบตเตอรี่ต่อไป
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทิศทางโลกจะหันมาสนใจพลังงานทดแทนมากขึ้น แต่ก๊าซฯยังเป็นเชื้อเพลิงสำคัญของประเทศ และมีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอเมริกาเหนือและเอเชีย เนื่องจากความต้องการใช้ยังเติบโตได้ ดังนั้น บี.กริม จึงเดินหน้าเป็นผู้จัดหาก๊าซ LNG และได้รับใบอนุญาตเป็นผู้จัดหาและนำเข้า LNG เป็นรายที่ 5 ของประเทศแล้ว ทั้งนี้ต้องรอฟังนโยบายของกระทรวงพลังงานว่าจะเปิดเสรีก๊าซระยะที่ 2 ในรูปแบบใดต่อไป แต่มองว่านโยบายเปิดเสรีก๊าซฯจะทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจก๊าซฯและเป็นผลดีต่อค่าไฟฟ้าของประชาชนในอนาคต
ปัจจุบันบี.กริม มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 3,100 เมกะวัตต์ มีโรงไฟฟ้าทั้งหมด 47 โรง และมีลูกค้าที่มาจากนิคมอุตสาหกรรมมากที่สุดในไทยกว่า 300 ราย