รัฐเจรจาปลดโรงไฟฟ้าเก่าของ GPSC และ EPEC ออกจากระบบก่อนกำหนดหวังลดสำรองไฟฟ้าล้นระบบ

4254
- Advertisment-

บิ๊กดีลกระทรวงพลังงานเตรียมเจรจาปลดโรงไฟฟ้าไอพีพีรอบแรกที่มีประสิทธิภาพต่ำ ทั้ง GPSC ( IPT เดิม ) และของอีสเทอร์นพาวเวอร์แอนด์อิเล็คทริค จำกัด กำลังการผลิตรวม 1,050 เมกะวัตต์  ออกก่อนกำหนดสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในปี 2568   เพื่อแก้ปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้า ( Reserve Margin )ล้นระบบซึ่งแตะ 50% ในปี2563 ที่เป็นภาระต่อต้นทุนไฟฟ้าของประชาชน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า การเจรจาเพื่อเร่งปลดโรงไฟฟ้าเก่าที่มีประสิทธิภาพต่ำออกจากระบบก่อนกำหนด หรือ Buy Out เป็นหนึ่งในแนวทางที่ กระทรวงพลังงานจะนำมาใช้เพื่อลดปริมาณสำรองไฟฟ้า ( Reserve Margin ) ในระยะสั้น โดยอยู่ระหว่างการนำเสนอเพื่อขออนุมัติหลักการจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานภายในเดือน พ.ย.2563 นี้

แนวทางการลดสำรองไฟฟ้าระยะสั้นของกระทรวงพลังงาน

ทั้งนี้ที่ผ่านมาผลกระทบจากโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจของประเทศตั้งแต่ต้นปี 2563 ส่งผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าในระบบ( Reserve Margin ) อยู่ในระดับสูงเกือบ 50%  และเป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชน โดยมีการคาดการณ์ว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าความต้องการใช้ไฟฟ้าจึงจะกลับมาอยู่ในระดับเดิม

- Advertisment -
ข้อมูลจากกฟผ.ชี้ให้เห็นความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ มากถึง 4 พันเมกะวัตต์

โดยในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปเมื่อเดือนต.ค.2563 ที่ผ่านมา มีข้อมูลคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ปีนี้อยู่ที่ 32,732 เมกะวัตต์ แต่พีคไฟฟ้าที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมี.ค.2563 อยู่ที่28,636 เมกะวัตต์  ซึ่งมีตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลงมากถึง 4,006 เมกะวัตต์

ในขณะที่โรงไฟฟ้าตามสัญญาที่จะเข้าระบบปี 2563 จะมีมากถึง 51,943 เมกะวัตต์  จึงทำให้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเหลืออยู่ในระบบมากถึง 23,307 เมกะวัตต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงไฟฟ้าเก่าในกลุ่มเป้าหมายที่กระทรวงพลังงานสั่งให้มีการเจรจาเพื่อปลดระวางออกจากระบบคือ กลุ่มโรงไฟฟ้าไอพีพีรอบแรกที่มีประสิทธิภาพต่ำ ( ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติต่อหน่วยผลิตไฟฟ้ามากกว่า โรงไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง)  ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าของบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด( มหาชน ) หรือ GPSC ( โรงไฟฟ้า IPT เดิม) ขนาดกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีสถานที่ตั้งอยู่ที่อ่าวไผ่ จ.ชลบุรี ที่เดินเครื่องเข้าระบบมาตั้งแต่ปี 2543 และจะสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในปี 2568  และอีกโรงคือของบริษัทอีสเทอร์นพาวเวอร์แอนด์อิเล็คทริค จำกัด  ( EPEC ) กำลังการผลิต 350 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีสถานที่ตั้งอยู่ที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ  ส่วนโรงไฟฟ้าเก่าที่เหลือเป็นโรงไฟฟ้าเก่าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ. ) และของราช กรุ๊ป ที่ได้มีการสั่งการให้ กฟผ.นำเสนอแผนการปลดระวางเพื่อแก้ปัญหาสำรองไฟฟ้ามาให้กระทรวงพลังงานพิจารณาแล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในสถานการณ์ที่ปริมาณสำรองไฟฟ้าอยู่ในระดับสูง โรงไฟฟ้าดังกล่าวทั้ง ไอพีพีของทาง GPSC และ EPEC รวมทั้งโรงไฟฟ้าของกฟผ. เช่นโรงไฟฟ้าวังน้อย ถูกสั่งให้หยุดเดินเครื่องมาหลายเดือนแล้ว  แต่ในส่วนของโรงไฟฟ้า GPSC และ EPEC ยังได้รับรายได้จากกฟผ.ในส่วนที่เรียกว่า ค่าความพร้อมจ่าย (Availablity Payment ) หรือค่าเอพี ที่นำไปคิดคำนวณรวมอยู่ในต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จัดเก็บกับประชาชน

ทั้งนี้ปัญหาสำรองไฟฟ้าที่ล้นระบบในระดับสูงยังจะมีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 เนื่องจากยังจะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่โรงใหม่ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA ) กับทาง กฟผ. จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามแผนอย่างต่อเนื่องแม้ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะยังไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นก็ตาม โดยในปี 2564 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์เอสอาร์ซี ชุดที่ 1 กำลังการผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์ เข้าระบบ

ปี 2565 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์เอสอาร์ซี ชุดที่ 2 กำลังการผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์เข้าระบบ

ปี 2566 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์พีดี ชุดที่ 1 กำลังการผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์
เข้าระบบ

ปี 2567 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์พีดี ชุดที่ 1 กำลังการผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าหินกองชุดที่ 1 กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบ

และปี 2568 จะมีโรงไฟฟ้าหินกองชุดที่ 2 กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบ

ทั้งนี้หากไม่มีการปลดระวาง โรงไฟฟ้าเก่าที่มีประสิทธิภาพต่ำ ก็จะทำให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวไม่ถูกสั่งให้เดินเครื่อง และประชาชนก็ยังต้องรับภาระจ่ายค่าเอพี ที่ถูกคิดคำนวณรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าอยู่ต่อไป

โรงไฟฟ้าใหม่ที่เข้าระบบตามสัญญาภายใต้แผนPDP2018 rev1
Advertisment