รัฐมนตรีพลังงาน และผู้ว่าการกฟผ.ยังไม่ทราบกรณี สปป.ลาว ชะลอการก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่

651
- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงาน ประสานเสียง ผู้ว่าการ กฟผ. ยังไม่ทราบ กรณี  สปป.ลาว ชะลอการก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่ชั่วคราว โดยยืนยันยังยึดตามกรอบเอ็มโอยูซื้อขายไฟ 9,000 เมกะวัตต์ และมั่นใจว่าจะไม่มีกระทบต่อบริษัทไทยที่ไปลงทุนใน สปป.ลาว  ในขณะที่แหล่งข่าวระบุ  หากสปป.ลาว ชะลอการก่อสร้างจริง ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าของไทยที่ต้องปรับสูงขึ้นแน่  แต่ฝั่งสปป.ลาว ก็จะสูญเสียรายได้และโอกาสจากการลงทุนมหาศาล เช่นเดียวกัน

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกระแสข่าว รัฐบาล สปป.ลาว จะชะลอการก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่เป็นการชั่วคราว  ว่า ยังไม่ได้รับรายงานในเรื่องนี้  โดยต้องรอให้ทาง สปป.ลาว แจ้งมายังฝ่ายไทยก่อน  โดยไม่อยากให้ทุกฝ่ายกังวลมากเกินไป เพราะยังไม่ทราบข้อเท็จจริง และเชื่อว่าจะไม่กระทบบริษัทไทยที่ไปลงทุนใน สปป.ลาว

ส่วนกรณีเขื่อนดินในโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยทรุดตัว นั้น เชื่อว่าจะไม่กระทบการจ่ายไฟฟ้ามายังประเทศไทย เพราะปัจจุบัน ไทยมีสำรองไฟฟ้าค่อนข้างสูง ทำให้มีไฟฟ้าเพียงพอที่จะป้อนเข้าสู่ระบบและไม่กระทบกับเศรษฐกิจ

- Advertisment -

ด้านนายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ขณะนี้ กฟผ. ได้สอบถามไปยังผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเซเปียน โดยเฉพาะบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด ผู้ถือหุ้นในโครงการดังกล่าว ถึงความชัดเจนการจ่ายไฟฟ้าตามกำหนดเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ซึ่งทราบว่า ทาง สปป.ลาว และโรงไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้แล้ว แต่ขอตรวจสอบระดับน้ำที่ไหลออกจากเขื่อนว่ามีผลต่อการผลิตไฟฟ้าหรือไม่

ส่วนกรณี ครม. สปป.ลาว มีมติหยุดการสร้างเขื่อนแห่งใหม่เพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว จะกระทบข้อตกลงซื้อขายไฟฟ้า (MOU) ไทย-ลาว จำนวน 9,000 เมกะวัตต์ หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่ทราบมติอย่างเป็นทางการ ต้องรอความชัดเจนจาก สปป.ลาว ก่อน จึงตอบไม่ได้ว่าจะมีการปรับแผนการผลิตไฟฟ้าอย่างไร แต่เบื้องต้นยังยึดตามสัญญาเดิม

ด้านแหล่งข่าวในวงการพลังงาน  กล่าวว่า  หากสปป.ลาว ชะลอการก่อสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจริง  ในแง่ของความมั่นคงไฟฟ้า คงจะไม่มีผลกระทบเนื่องจาก ไทย ยังมีปริมาณสำรองไฟฟ้าอยู่ในระดับสูง ที่ไม่จำเป็นจะต้องมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ไปจนถึงปี 2568  อย่างไรก็ตาม ไทยอาจจะได้รับผลกระทบในเรื่องของค่าไฟฟ้าที่จะต้องปรับเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก โครงการไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว มีต้นทุนที่ต่ำกว่า โรงไฟฟ้าที่สร้างใหม่ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ หรือพลังงานทดแทนอื่นๆ ในประเทศอยู่มาก  ในขณะที่ทางสปป.ลาว ก็จะสูญเสียโอกาสในการลงทุน รวมทั้งรายได้จากการขายไฟฟ้า ที่รัฐบาลสปป.ลาว จะได้รับตามสัดส่วนการร่วมลงทุนในแต่ละโครงการ รวมทั้งรายได้อื่นๆ  จำนวนมหาศาล เช่นเดียวกัน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News  Center –ENC ) รายงานว่า ปัจจุบันไทยและสปป.ลาว มีการทำ ข้อตกลงเอ็มโอยู ที่ไทย จะซื้อขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จำนวน  9,000 เมกะวัตต์  โดยมีสัญญาการซื้อขายไฟฟ้า(PPA)ระหว่างกันรวมแล้ว  5,832 เมกะวัตต์   โดยเป็นโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จและจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในเชิงพาณิชย์ มายังประเทศไทยแล้ว 6 โครงการ รวมกำลังการผลิต 3,989 เมกะวัตต์  ได้แก่

1.โครงการเทิน-หินบุน จำนวน 220 เมกะวัตต์ เข้าระบบเดือนมี.ค. 2541

2.โครงการห้วยเฮาะ จำนวน 126 เมกะวัตต์ เข้าระบบเดือนก.ย. 2542

3.โครงการน้ำเทิน2  จำนวน 948 เมกะวัตต์ เข้าระบบเดือน เม.ย. 2553

4.โครงการน้ำงึม2 จำนวน 597 เมกะวัตต์ เข้าระบบเดือนมี.ค. 2554

5.โครงการเทิน-หินบุนส่วนขยาย จำนวน 220 เมกะวัตต์ เข้าระบบเดือน ธ.ค. 2555

6.โครงการหงสาลิกไนต์  ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์  3 ยูนิต รวมจำนวน 1,878 เมกะวัตต์ เข้าระบบล่าสุดเดือนมี.ค. 2559

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและจะผลิตไฟฟ้าขายให้ไทยในปี 2562 อีก 3 โครงการ รวมปริมาณไฟฟ้า 1,843 เมกะวัตต์ ได้แก่

1.โครงการไซยบุรี จำนวน 1,220 เมกะวัตต์

2.โครงการเซเปียน-เซน้ำน้อย 354 เมกะวัตต์ (มีปัญหาเขื่อนดินย่อยทรุดตัว)

3.โครงการน้ำเงี้ยบ1 จำนวน 269 เมกะวัตต์

และในปี 2565 จะมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำโครงการน้ำเทิน 1 เข้าระบบอีก 520 เมกะวัตต์ ซึ่งหากโครงการดังกล่าวทั้งหมดเข้าระบบแล้ว จะทำให้ไทยรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาวรวม 6,352 เมกะวัตต์ จากกรอบความร่วมมือ 9,000 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ยังมีโครงการที่ยังมีศักยภาพ  ที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น โครงการปากเบ่ง กำลังการผลิต798 เมกะวัตต์  ส่วนโครงการที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ได้มีการเจรจากับฝ่ายไทย มีอีกจำนวนกว่า  1,905 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการ เซกอง4  กำลังการผลิต240 เมกะวัตต์  โครงการเซกอง5 กำลังการผลิต330 เมกะวัตต์ โครงการ  น้ำกง1 กำลังการผลิต 75 เมกะวัตต์  และโครงการเซนาคาม กำลังการผลิต660 เมกะวัตต์  รวมทั้งโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม ที่เอกชนไทยเข้าไปเป็นผู้พัฒนาโครงการอีก 600 เมกะวัตต์

Advertisment