รัฐมนตรีพลังงาน มอบนโยบาย 3 มิติ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)คือ 1.ปรับตัวลดขนาดองค์กรให้เล็กลง เพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน รองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว 2.กระจายกำลังการผลิตให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมผลิตไฟฟ้าร่วมกับบริษัทลูก กฟผ. สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มเข็ง และ3.กฟผ.ต้องผลักดันตัวเองสู่การเป็นหน่วยงานหลักด้านไฟฟ้าของประเทศและเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าอาเซียน ในขณะที่ กฟผ.เสนอข้อแก้ พ.ร.บ.กฟผ. ให้มีความคล่องตัวในการเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2562 ซึ่งมีการถ่ายทอดสัญญาณสดไปยังหน่วยงานกฟผ.ที่กระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ ว่า ได้มอบ 3 นโยบาย ให้ กฟผ.ไปดำเนินการใน3 มิติ ได้แก่มิติที่ 1. ให้ กฟผ.ปรับโครงสร้างองค์กรให้มีขนาดเล็กลง แต่มีประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่สูงขึ้น รองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว หรือ Disruptive Technology เนื่องจากการเป็นองค์กรใหญ่จะส่งผลให้การขับเคลื่อนงานทำได้ช้าไม่ทันการณ์ แข่งขันกับองค์กรขนาดเล็กที่มีความคล่องตัวสูงไม่ได้ โดย กฟผ.จะต้อง ปรับความคิด นำความเข้มแข็งขององค์กรที่มีอยู่เดิม มาเพิ่มขีดความสามารถให้แข่งขันสู้กับเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ กฟผ.ยังคงเป็นองค์กรหลักด้านไฟฟ้าของประเทศต่อไป ทั้งนี้เรื่องใดที่กฟผ.เห็นว่าทำมาถูกทาง และทำดีอยู่แล้ว ก็ให้ทำต่อไป แต่เรื่องไหนที่กฟผ.เห็นว่าจะต้องมีการทำเพิ่มเติม ก็ให้มีการปรับทบทวนแผนเพื่อนำมาเสนอให้พิจารณาอนุมัติต่อไป
2.การให้ กฟผ.เข้าไปมีส่วนร่วมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ตามนโยบายพลังงานเพื่อประชาชนทุกคน (Energy for all) โดย กระจายกำลังการผลิตไฟฟ้าลงไปให้กับชุมชน หรือ Decentralization ทั้งนี้ กฟผ.อาจจะให้บริษัทลูก เข้าไปร่วมลงทุนกับชุมชนด้วย เพื่อให้ชุมชนมีโอกาสผลิตไฟฟ้าและขาย สร้างรายได้และเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับชุมชน จนทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งในที่สุด โดยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ในช่วงกลางเดือนก.ย. 2562 นี้ กระทรวงพลังงานจะนำเสนอหลักการที่จะให้ชุมชนและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า ที่เรียกว่า Prosumer ให้ที่ประชุมได้เห็นชอบ และภายใน 1-2 เดือนนี้ กระทรวงพลังงานจะเปิดตัวโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)อยู่ระหว่างร่างกรอบรายละเอียดดังกล่าวเสนอรัฐมนตรีพลังงาน เบื้องต้นมีการเสนอให้ชุมชนมีสัดส่วนในการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า 30%
และ 3.ให้ กฟผ.เป็นหน่วยงานหลักด้านไฟฟ้าของประเทศและเดินหน้าไปสู่การเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าภูมิภาคอาเซียน เกิดการซื้อขายไฟฟ้า(Trading) ในภูมิภาคอาเซียนขึ้น เนื่องจากหากไทยไม่ผลักดันตัวเองเป็นศูนย์กลางพลังงานอาเซียน จะส่งผลให้ประเทศอื่น เช่น จีนตอนใต้ และเวียดนาม ชิงความเป็นผู้นำและแซงหน้าประเทศไทย
นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.ได้นำเสนอเรื่องถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่จะขอแก้ไข พ.ร.บ.กฟผ. จำนวน6-7 มาตรา เพื่อให้ กฟผ.มีความคล่องตัวและประสิทธิภาพในการบริหารงานเพิ่มขึ้น อาทิ การแก้ไขเรื่องของ การตั้งประธานบอร์ด ที่ให้ กรรมการสามารถเลือกกรรมการ ขึ้นเป็นประธานกรรมการแทนได้ ในกรณีที่ประธานกรรมการลาออก เพื่อให้สามารถดำเนินการประชุมคณะกรรมการได้ โดยปัจจุบัน กฟผ. ยังไม่สามารถที่จะดำเนินการประชุมกรรมการได้ เนื่องจาก มีประธานกรรมการ และกรรมการลาออก1คน ทำให้ไม่ครบองค์ประชุม รวมทั้งเรื่องที่ขอแก้ไขให้กฟผ.สามารถขายแอลเอ็นจี ในเชิงพาณิชย์ นอกเหนือจากที่นำเข้ามาใช้เฉพาะในโรงไฟฟ้าของกฟผ.ได้ ซึ่งจะ สอดรับกับนโยบายการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ที่ กพช. ต้องการจะให้มีการแข่งขันในธุรกิจการค้าก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากขึ้น