รัฐมนตรีพลังงานลงนามประวัติศาสตร์สัญญาแบ่งปันผลผลิตแหล่งบงกช เอราวัณ แล้ว

2580
- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงานลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) กับ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด และ สัญญาแบ่งปันผลผลิตสำหรับแปลงสำรวจปิโตรเลียมในอ่าวไทยหมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช) กับ บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด  โดยถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ปิโตรเลียมไทย ที่จะมีการเริ่มใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ในแหล่งที่สัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุดอายุ

พีธีลงนาม มีขึ้นวันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2562)  ณ ห้องประชุมกระทรวงพลังงาน ชั้น 15 ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ อาคารบี  โดย นาย ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ลงนามในสัญญาในฐานะตัวแทนฝ่ายรัฐที่เป็นผู้ให้สัญญาฯ
โดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และ
นางเปรมฤทัย วินัยแพทย์  อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ร่วมลงนามในฐานะพยาน ในส่วนของผู้รับสัญญานั้นมี นายพงศธร ทวีสิน
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้มีอำนาจลงนาม และ
นายราเช็ด อับดุลนาบิ กูลัม ราโซว อัลบลูชิ
กรรมการบริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้มีอำนาจลงนาม  โดยมีนายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ในฐานะพยาน นายนาเซอร์ อาลี นาเซอร์ อาลี อัลฮาจรีผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ – ฝ่ายปฏิบัติการ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) ในฐานะพยาน

การลงนามดังกล่าวสืบเนื่องมาจากที่การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 ได้มีมติตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงานโดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียม อนุมัติให้
– บริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร่วมกับ บริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด
เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ)
และบริษัท ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต
ในแปลงสำรวจหมายเลข G2/61 (แหล่งบงกช)

- Advertisment -

โดยในเงื่อนไขการประมูลดังกล่าว ได้กำหนดให้ผูกพันปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำสำหรับ 10 ปีแรกของระยะเวลาการผลิต ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับแหล่งเอราวัณ และ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับแหล่งบงกช และกำหนดให้ข้อเสนอราคาขายก๊าซธรรมชาติเป็นเกณฑ์หลักในการคัดเลือกผู้รับสิทธิฯ และให้ข้อเสนออัตราส่วนแบ่งผลผลิตจากกำไรให้รัฐเป็นเกณฑ์รอง

ผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตทั้ง 2 แปลง ได้เสนอราคาค่าคงที่สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติที่ 116 บาทต่อล้านบีทียู ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาปัจจุบันของทั้ง 2 แปลง (ดังแสดงในกราฟแนบ) นับเป็นจุดเริ่มต้นของฐานพลังงานใหม่โดยจะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติลดลงจากเดิมในราคาประมาณ 6 – 7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู มาอยู่ที่ประมาณ 4 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู และราคาก๊าซธรรมชาติที่ถูกลงยังทำให้ค่าไฟลดลงประมาณ 15-20 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิมที่ราคา 3.6 บาทต่อหน่วย ลดลงมาอยู่ที่ 3.4 บาทต่อหน่วย ด้วย นอกจากนั้น โรงแยกก๊าซธรรมชาติในประเทศยังได้รับก๊าซธรรมชาติในปริมาณเพียงพอกับการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ในการผลิตเป็นก๊าซ LPG และวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในราคาต้นทุนที่แข่งขันได้ อีกทั้งผลจากการที่มีการผลิตก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่มากพอที่จะเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศในราคาที่ไม่แพงได้เป็นพื้นฐานในการเพิ่มสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติในแผน PDP 2018 จาก 30% เป็น 53% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า

ซึ่งตลอดทุกขั้นตอนของการเปิดประมูลสิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในทั้ง 2 แปลง ตั้งแต่การออกประกาศเชิญชวน การยื่นซอง การเปิดซอง การพิจารณาผล จนกระทั่งการประกาศผลผู้ชนะการประมูล กระทรวงพลังงาน โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้ดำเนินการตามหลักมาตรฐานสากล มุ่งเน้นความโปร่งใส ชัดเจน และเปิดเผยต่อสื่อมวลและสาธารณชนมาโดยตลอด โดยยึดถือผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศเป็นสำคัญ

Advertisment