รัฐปล่อยให้ผู้ค้าน้ำมันได้รับค่าการตลาดกลุ่มเบนซินและดีเซลเฉลี่ยสูงถึง 2.48 บาทต่อลิตรในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 5 เมษายน 2563 จากระดับที่เหมาะสมไม่เกิน 2 บาทต่อลิตร โดยเป็นข้อมูลที่มาจากการติดตามสถานการณ์ราคาของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในขณะที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธานยังไม่มีการเรียกประชุมเพื่อใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นกลไกในการควบคุมค่าการตลาดของผู้ค้า
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 5 เมษายน 2563 โดยสรุปประเด็นสำคัญถึงราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 22.76 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากช่วงสัปดาห์ที่แล้ว 3.04 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดภูมิภาคเอเซียน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 20.87 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 1.38 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลจากอุปสงค์เบนซินของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นผู้ซื้อน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มลดลง หลังเตรียมยกระดับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19
จีนมีแนวโน้มส่งออกเบนซินเพิ่มขึ้น ขณะที่ความต้องการใช้เบนซินในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกปรับตัวลดลงจากการแพร่ระบาดของCOVID-19
ส่วนราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว (10 PPM) เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 36.28 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 2.14 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยอุปทานดีเซลในภูมิภาคที่มาจากอินเดียและเกาหลีใต้เพิ่มมากขึ้น หลังความต้องการใช้น้ำมันลดลงจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 และความต้องการใช้ดีเซลของจีนในเดือน ม.ค. และ ก.พ. 63 ปรับตัวลดลง จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 นอกจากนี้รัฐบาลอินเดียยังประกาศสั่งปิดเมืองทั่วประเทศเป็นเวลา 3 สัปดาห์เพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้ดีเซล
ในขณะที่ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ที่แล้ว 0.06 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 33.0013 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ทำให้ ต้นทุนน้ำมันเบนซินลดลง 0.28 บาทต่อลิตร ในขณะที่ต้นทุนน้ำมันดีเซลลดลง 0.43 บาทต่อลิตร โดยค่าการตลาดของน้ำมันเบนซิน น้ำมันแก๊สโซฮอล และน้ำมันดีเซล เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2.48 บาทต่อลิตร และค่าการกลั่น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1.03 บาทต่อลิตร
สำหรับฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 1 เม.ย. 63 มีสินทรัพย์รวม 57,610 ล้านบาท หนี้สินกองทุน 21,317 ล้านบาท ฐานะกองทุนน้ำมันสุทธิ 36,293 ล้านบาท แยกเป็นบัญชีน้ำมัน 41,896 ล้านบาท บัญชี LPG ติดลบ5,603 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันทั้งกลุ่มเบนซินและดีเซล ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.48 บาทต่อลิตร ถือว่าเป็นระดับที่สูงจากที่รัฐประเมินความเหมาะสมว่าควรจะไม่เกินระดับ 2 บาทต่อลิตร โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)ที่มี นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ยังไม่ได้มีการเรียกประชุมเพื่อใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นกลไกในการควบคุมค่าการตลาดของผู้ค้า ให้ลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม