การปรับคุณภาพน้ำมันเป็นมาตรฐานยูโร 5 ที่หวังเป็นหนึ่งในการแก้ปัญหาปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) อาจต้องใช้เวลาปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันนาน 5 ปี อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมธุรกิจพลังงานเร่งให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นทั้ง 6 แห่ง จัดทำแผนเสนอต่อกรมฯ ภายในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เริ่มผลิตได้จริงในปี 2567 คาดใช้เงินลงทุนกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมระหว่างกรมธุรกิจพลังงาน กับตัวแทนผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน 6 แห่งประกอบด้วย ไทยออยล์ บางจาก พีทีทีจีซี เอสโซ่ ไออาร์พีซี และเอสพีอาร์ซี เมื่อวันที่ 16 ม.ค.2562 ว่า ปัญหาสถานการณ์มลพิษทางอากาศในปัจจุบัน ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งมีค่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) สูงเกินมาตรฐานนั้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยสาเหตุของปัญหาเกิดจากหลายปัจจัยเช่น จำนวนรถที่เพิ่มขึ้นมาก การจราจรติดขัด การมีอาคารสูงจำนวนมาก และจากสภาพอากาศที่ไม่ถ่ายเท รวมถึงปัญหาส่วนหนึ่งที่เกี่ยวกับคุณภาพน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีมาตรฐานคุณภาพน้ำมันที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้านในหลายประเทศ แต่ก็มีปัจจัยอื่นที่ส่งผลกระทบต่อปัญหามลพิษ เช่น สภาพเครื่องยนต์ การก่อสร้าง และโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นทางกรมธุรกิจพลังงานก็เห็นว่าการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน จัดเป็นแนวทางหนึ่งในการบรรเทาปัญหามลพิษดังกล่าว
โดยในการหารือครั้งนี้ กรมฯได้ขอความร่วมมือ ผู้ประกอบการโรงกลั่น ให้เร่งดำเนินการจัดทำแผนปรับปรุงคุณภาพน้ำมันสู่มาตรฐานยูโร 5 เร็วขึ้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในขั้นตอนดำเนินการ และให้ส่งแผนมาให้กรมฯพิจารณาภายในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนคุณภาพน้ำมันสู่มาตรฐาน ยูโร 5 นอกจากจะต้องกำหนดคุณสมบัติน้ำมัน(สเปก) ยังจะต้องปรับเครื่องยนต์ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายจะต้องดำเนินการคู่ขนานกัน ซึ่งที่ผ่านมาการปรับคุณภาพน้ำมันจากมาตรฐาน ยูโร 3 เป็น ยูโร 4 ทุกโรงกลั่นจะใช้เวลาเตรียมความพร้อม 5 ปี หลังจากที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ออกประกาศมาตรฐานน้ำมันอย่างเป็นทางการแล้ว แต่การขอความร่วมมือครั้งนี้ จะให้ผู้ประกอบการโรงกลั่นดำเนินการจัดทำแผนล่วงหน้าไปก่อน ในระหว่างที่รอการออกประกาศมาตรฐานของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ที่คาดว่าจะออกประกาศได้ภายในปีนี้ จากนั้นจะใช้เวลา 5 ปี ในการเตรียมพร้อมผลิตน้ำมันตามมาตรฐาน ยูโร 5 หรือ เริ่มผลิตได้ในปี 2567 เป็นต้นไป
สำหรับการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน ตามมาตรฐาน ยูโร 5 มีวัตถุประสงค์ต้องการให้ลดการปล่อยค่ากำมะถันลงอีกจาก 100 PPM ในมาตรฐานยูโร 4 เป็นให้เหลือ 10 PPM ในน้ำมันเบนซินและดีเซล และในส่วนของดีเซล ยังจะต้องลดการปล่อยค่าสารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอนจาก 11% ในมาตรฐานยูโร 4 เป็นให้เหลือ 8%
นางสาวนันธิกา กล่าวว่า สำหรับต้นทุนในการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน ตามมาตรฐาน ยูโร 5 ขณะนี้ ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างศึกษาต้นทุนที่ชัดเจน แต่ที่ผ่านมาในส่วนของภาคเอกชน ได้มีการศึกษาพบว่าจะต้องใช้เงินลงทุนราว 3.5 หมื่นล้านบาท สำหรับการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันของ 6 โรงกลั่น ซึ่งไม่รวมกับกรณีที่โรงกลั่นบางแห่งที่ได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานน้ำมันในบางโครงการไปแล้ว เช่น โรงกลั่นบางจาก ที่ลงทุนผลิตน้ำมันอี20 ตามมาตรฐานยูโร 5 และโรงกลั่นไทยออยล์ ที่ปรับปรุงคุณภาพน้ำมันตามโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project :CFP) ซึ่งบางโครงการจะเสร็จปี 2563