หลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 (วพม.2) ร่วมกับสมาคมการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน มีการจัดงานเสวนาพิเศษในหัวข้อ ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมต้องทำอย่างไร ณ Synergy Hall ชั้น 6 , Energy Complex อาคาร C เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 โดยข้อเสนอจากวิทยากรและผู้ร่วมงานเสวนาซึ่งฝากไปถึงภาครัฐที่มีส่วนในการกำหนดนโยบายด้านไฟฟ้า โดยเฉพาะคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน คือการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ฉบับใหม่ หรือ PDP 2024 (พ.ศ.2567-2580) ซึ่งจะมีการกำหนดประเภทของโรงไฟฟ้าที่จะเข้าสู่ระบบในอนาคต และจะเป็นตัวกำหนดทิศทางราคาของต้นทุนค่าไฟฟ้า นอกเหนือจาก เรื่องของโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าที่จะต้องปรับปรุงให้เป็นธรรมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปของประชาชนตามเทคโนโลยีด้านไฟฟ้าที่พัฒนาขึ้น
โดย ดร.วีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) หนึ่งในผู้ร่วมงานซึ่งเป็นตัวแทนของกระทรวงพลังงานในฝ่ายนโยบาย ระบุถึงการจัดทำ PDP 2024 (พ.ศ.2567-2580) ว่าอยู่ระหว่างการนำเสนอร่างเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการพยากรณ์และจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ครั้งที่ 2 ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 นี้ จากนั้นจะให้มีการเปิดรับฟังความเห็นจากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต่อไป
สำหรับหลักการในการจัดทำแผน PDP 2024 จะมุ่งเน้น 4 ส่วนสำคัญคือ 1.เน้นความมั่นคงของระบบไฟฟ้าทั้งประเทศ ( Security ) ที่ครอบคลุมทั้งระบบผลิตไฟฟ้า ระบบส่งไฟฟ้า และความมั่นคงรายพื้นที่โดยคำนึงถึง Disruptive Technology ที่จะเข้ามา เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นเพียงพอต่อการรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
2.ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Economy) ทั้งมีเสถียรภาพ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ขณะเดียวกันประชาชนต้องไม่แบกรับภาระอย่างไม่เป็นธรรม และเตรียมพร้อมระบบไฟฟ้าให้เกิดการแข่งขันด้านการผลิตไฟฟ้าและการบริหารจัดการ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์
3.คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Ecology ) โดยจำกัดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ Carbon Neutrality และ Net Zero Emission
4. การเพิ่มประสิทธิภาพในระบบไฟฟ้า (Efficiency) ทั้งด้านการผลิตและการใช้ และนำเทคโนโลยีระบบโครงข่ายไฟฟ้าSmart Grid มาใช้อย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากการมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เอง หรือ Prosumer ที่จะมีมากขึ้นในอนาคต
ตามแผน PDP ฉบับใหม่ในส่วนโรงไฟฟ้าใหม่และเทคโนโลยีใหม่ จะพิจารณาถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ การรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจากต่างประเทศ โซลาร์ โซลาร์ลอยน้ำ และโซลาร์บวกด้วยระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System : BESS) และพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) เป็นทางเลือก ในแผนด้วย
ในวงเสวนา ระบุถึงโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ย ในปัจจุบัน แบ่งเป็น ค่าไฟฟ้าฐาน(ปรับทุก3-5ปี) อยู่ที่ 3.7833 บาทต่อหน่วย และบวกด้วยค่าFt ซึ่งเป็นต้นทุนที่เปลี่ยนแปลงไปจากค่าไฟฟ้าฐาน (ปรับทุก 4 เดือน) อีก 0.3972 บาทต่อหน่วย นั้น เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน ถือว่าค่าไฟฟ้าไทยยังอยู่ในระดับกลางๆ โดยแพงกว่ามาเลเซียและเวียดนาม แต่ถูกกว่า สิงคโปร์ ซึ่งมุมมองจากวิทยากรผู้ร่วมเสวนา เห็นว่า สามารถที่จะดำเนินการด้านต่างๆเพื่อให้ค่าไฟฟ้าที่เป็นอยู่มีความเป็นธรรมได้มากกว่านี้
ดร.ชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารความยั่งยืน และนายกสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) หนึ่งในวิทยากรบนเวทีเสวนาพิเศษ ที่ให้มุมมองจากฝั่งของผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ซึ่งอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของไทยนั้นจ่ายค่าไฟฟ้าอยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาทต่อปี ได้ฝากข้อเสนอแนะต่อการสร้างค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ดังนี้
1.ให้มีการใช้ประโยชน์อุปกรณ์โครงข่ายต่างๆ ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกระหว่างผู้ใช้และผู้ผลิต ให้เกิดผลตามแผน PDP และ ERC Sandbox ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ได้ทดลอง เร่งรัดให้เร็วขึ้น
2. การสนับสนุน Energy Storage ต้องให้เหมาะสมกับพื้นที่ เช่น Chemical Battery, Thermal Battery ความร้อนหรือความเย็น, หรือ Gravity Storage เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปรับเปลี่ยนโหลดของผู้ใช้ Energy Storage ร่วมกัน
3. การกำหนดให้มี Flexible Tariff ร่วมกับเร่งรัด Platform สำหรับซื้อขายไฟฟ้าได้หลายแหล่งและหลากหลายคุณภาพที่เหมาะสมกับราคา
พร้อมเสนอแนวทางที่เป็นโมเดลนำร่องในการสร้างทางเลือกทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการสร้างความเป็นธรรม ผ่านโครงการ สระบุรีแซนด์บอกซ์ ของกลุ่มอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ SCG ที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก กกพ.เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่เป้าหมาย Thailand NDC (Nationally Determined Contribution )
ด้านนายนที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีข้อเสนอแนะถึงภาครัฐ หลายข้อ ดังนี้
-โครงสร้างค่าไฟฟ้าควรใช้หลัก Performance Base ของ 3 การไฟฟ้า แทน Return on Invesed Capital หรือ ROIC และควรต้องรองรับเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ Prosumer (การผลิตใช้เองและขายเข้าระบบ ),Peer to Peer (การผลิตและซื้อขายกันเองระหว่างเอกชนผ่านระบบสายส่งไฟฟ้าของรัฐ) ,สถานีชารจ์และการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV)ที่จะเพิ่มมากขึ้น การจัดการด้านฝั่งความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อตอบสนองต่อโหลด ( Demand Side Management) และสะท้อนถึงเศรษฐกิจฐานราก สิ่งแวดล้อม และการลดก๊าซเรือนกระจกของพลังงานสะอาดแต่ละประเภท
-เร่งประกาศใช้ Third Party Access และประกาศอัตราค่าบริการการใช้ระบบสายส่งของรัฐ หรือ Wheeling Charge ที่เหมาะสม และการเตรียมการสำหรับ Direct PPA
-รัฐควรตั้งงบประมาณอุดหนุนค่าใช้จ่ายตามนโยบายภาครัฐ ( Policy Expense -PE) ที่แยกต่างหากสำหรับสวัสดิการที่ให้กับประชาชน เช่น ไฟฟ้าสาธารณะ เงินอุดหนุนการลงทุนโรงไฟฟ้า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การช่วยเหลือค่าไฟฟ้าสำหรับกลุ่มเปราะบาง
-ในอนาคตสามารถใช้เงินจากกองทุน Climate Change ภายใต้ พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในส่วนของพลังงานสะอาดได้
-เปลี่ยนโครงสร้างกิจการไฟฟ้าจาก Enhanced Single Buyer -ESB ไปสู่ การเปิดเสรีซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ตอบโจทย์การใช้พลังงานหมุนเวียน 100 % หรือ RE100 ของนักลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยเพื่อส่งออก
นายวฤต รัตนชื่น ผู้ช่วยผู้ว่าการ วิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. ระบุว่า ในภาคการผลิตไฟฟ้า ได้เสนอแนวทางที่จะทำให้ค่าไฟฟ้าเป็นธรรมกับทุกภาคส่วนมากขึ้น โดยในเบื้องต้นต้องเคลียร์ต้นทุนของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดออกมาให้ชัดเจน เพื่อพิจารณาการอุดหนุน และเงื่อนไขที่เหมาะสม และเพื่อไม่ให้ภาระไปตกอยู่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยเฉพาะภาคประชาชน
พร้อมเสนอการปรับปรุง อัตราค่าไฟฟ้าที่คิดตามช่วงเวลาการใช้งานของผู้ใช้ไฟฟ้า (Time of Use Tariff :TOU) ซึ่งเป็นมาตรการที่ทำกันมานานนับสิบปี เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป
นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวเสนอในมุมของการจัดหาเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าที่ประเทศจำเป็นต้องพึ่งพาก๊าซฯในระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด โดยรัฐต้องเน้นเรื่องคุณภาพของไฟฟ้า ที่จะต้องไม่ให้มีไฟฟ้าตกดับได้ ซึ่งแม้จะมีความท้าทาย ที่โลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล และAI ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเติบโตอีกเป็นเท่าตัว ดังนั้นนโยบายรัฐจึงต้องผสมผสานให้เกิดสมดุลระหว่างการเปิดให้มีการแข่งขันเสรีกับระบบการกำกับดูแลที่เป็นธรรม ซึ่งนโยบายต้องพิจารณาในเรื่องราคาที่สะท้อนต้นทุนจริงเพื่อไม่ให้เกิดภาระกับประเทศในระยะยาว รวมถึงการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้ามามากขึ้น และการที่ทุกฝ่ายจะต้องสื่อสารกับประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าให้มากขึ้น
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ.ในบทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลกิจการพลังงานที่กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าซึ่งต้องดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ ระบุถึง ความเป็นธรรมที่ต้องคำนึงถึง 3 ส่วน คือ 1.อัตราค่าบริการและความเสี่ยง 2.ความมั่นคงและคุณภาพ และ 3.นโยบายไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ โดยค่าไฟฟ้าจะถูกหรือแพงขึ้นอยู่กับนโยบายและการวางแผน เพราะโรงไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องต้องมีการวางแผนไว้ล่วงหน้า ไม่สามารถมาปรับได้ภายในเวลา 1-2 วัน และเน้นว่าต้นทุนที่สำคัญของค่าไฟฟ้าคือค่าเชื้อเพลิง โดยเฉพาะ LNG นำเข้า ซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก
ปิดท้ายด้วยข้อเสนอของอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ที่ฝากประเด็นข้อเสนอแนะจากมุมของผู้บริโภคให้ผู้ดำเนินรายการบนเวทีได้อ่านให้ผู้ร่วมเสวนาในห้องประชุมได้รับฟังพร้อมกัน ดังนี้
1. ให้รัฐหยุดโครงการรับซื้อไฟฟ้าใหม่ชั่วคราว 4 ปี
2. ให้ชะลอหรือเลื่อนการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (สปป.ลาว) ที่ไปเซ็นสัญญาPPA กันไว้ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์
3. รัฐไม่ควรอ้างเป้าหมาย Carbon Neutrality 2050 และ Net Zero Emission 2065 เพื่อมาเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว Utility Green Tariff (UGT) ด้วยกติกาที่ไม่เป็นธรรม จนกว่าจะมีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นอย่างจริงจัง/รอบด้าน ว่าจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าอย่างไร เพราะจะต้องมี gas-fired power plants เพิ่มขึ้นเพื่อคอยเป็น back up/standby สำหรับเวลาแสงอาทิตย์ไม่มีหรือลมไม่มา อีกเท่าไหร่?
4. เลิกต่ออายุโรงไฟฟ้าเก่า SPP และ IPP ของเอกชนทุกประเภท ถ้าอยากผลิตต่อหลังหมดสัญญาPPA ให้มาเข้าระบบแข่งขันเสรี power pool โดยให้เร่งออกกติกา wheeling charge และ TPA
5. ให้โรงไฟฟ้าของ กฟผ.และบริษัทในเครือ เข้าร่วมแข่งขันประมูลโรงไฟฟ้าได้เช่นเดียวกับเอกชน บนกติกาเดียวกัน
ทั้งหมดนี้เป็นข้อเสนอที่รวบรวมได้จากงานเสวนาพิเศษ ค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรมต้องทำอย่างไร จัดโดยหลักสูตรด้านวิทยาการพลังงานสำหรับนักบริหารรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 (วพม.2) ร่วมกับสมาคมการจัดการของเสียอย่างยั่งยืน เพื่อให้รัฐได้รับข้อมูลที่มีประโยชน์ต่อการพิจารณากำหนดนโยบายด้านไฟฟ้าของประเทศต่อไป