ชูโมเดลเจดีเอไทย-มาเลเซีย หารือแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา

1552
- Advertisment-

อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเตรียมเดินสายหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านต่างประเทศและด้านความมั่นคง เดือนก.พ.นี้ ถึงแนวทางในการแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับรัฐบาลกัมพูชา โดยชูโมเดลความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่เจดีเอของไทยกับมาเลเซียเป็นต้นแบบที่ไม่มีประเทศใดสูญเสียอธิปไตยในเรื่องเขตแดน และต่างได้รับประโยชน์จากการผลิตปิโตรเลียมปีละกว่า12,000ล้านบาท

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 21ม.ค.2563 ถึงความคืบหน้าในการหาข้อยุติปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา เพื่อนำไปสู่การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอนาคต ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่า  ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะเริ่มต้นหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงของไทย  ให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน ก่อนที่จะนำเสนอต่อระดับนโยบาย เพื่อนำไปสู่การเปิดเจรจากับทางรัฐบาลกัมพูชา ต่อไป

ทั้งนี้ในส่วนของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ มองว่า แนวทางในการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชา ควรจะใช้โมเดลการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันกับมาเลเซีย ซึ่งประสบความสำเร็จ และทำให้ไทยได้รับการแบ่งปันผลประโยชน์ปีละกว่า12,000 ล้านบาท  โดยที่ไม่มีฝ่ายใดสูญเสียอธิปไตยในเรื่องของพื้นที่

- Advertisment -

นายสราวุธ กล่าวว่า การแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา กว่า 2,600ตารางกิโลเมตร หากเริ่มต้นที่การเจรจากำหนดเส้นเขตแดนเพื่อแบ่งพื้นที่ จะทำให้การเจรจาเดินหน้าต่อไม่ได้  แต่ควรจะเริ่มต้นในส่วนของพื้นที่ที่มีปัญหาน้อยที่สุด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่และแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน โดยที่ไม่มีฝ่ายใดสูญเสียอธิปไตยในเรื่องพื้นที่แม้แต่ตารางนิ้วเดียว

“กรณีของมาเลเซียกับไทยประสบผลสำเร็จในการเจรจาเพราะผู้นำทั้งสองประเทศเห็นพ้องกันว่า ไม่ควรจะมามัวเสียเวลาทะเลาะกันในการขีดเส้นแบ่งเขตแดนที่ทับซ้อนกัน แต่ทั้งสองประเทศควรจะเอ็นจอยในประโยชน์ที่ได้จากการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน  ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้ ทั้งไทยและมาเลเซียเพิ่งฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ40ปีในการพัฒนาพื้นที่เจดีเอ และในเวทีนานาชาติต่างยกย่องว่านี่เป็นโมเดลที่เป็น success story ” นายสราวุธ กล่าว

นายสราวุธ กล่าวด้วยว่า  หากการเจรจาปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ได้ข้อยุติ และนำไปสู่การเริ่มต้นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่ได้  ผลประโยชน์จะตกอยู่กับทั้งสองประเทศ และถือเป็นการต่อลมหายใจให้กับประเทศไทยที่ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่มีอยู่เริ่มร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ

Advertisment