ยอดใช้ดีเซล 10 เดือนพุ่ง 18.6 % จากนโยบายตรึงราคาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

256
N4431
- Advertisment-

กรมธุรกิจพลังงานเปิดตัวเลข 10 เดือน ปี 65 (มกราคม-ตุลาคม) ยอดใช้ดีเซลพุ่ง 18.6 % จากนโยบายตรึงราคาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ​ ส่วนการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 945,562 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 11.1 % แต่มูลค่านำเข้าเพิ่ม 91.7 %

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยเดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 อยู่ที่ 149.75 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 15.4% โดยการใช้กลุ่มดีเซลเพิ่มขึ้น 18.6% น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 88.2% น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 18.5% ก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้น 7.8% และการใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ ( NGV) เพิ่มขึ้น 9.7% การใช้กลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 5.0% ขณะที่การใช้น้ำมันก๊าดลดลง 10.9% ทั้งนี้ ภาพรวมความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เทศกาลวันหยุดยาว และราคาน้ำมันที่ชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ COVID และเศรฐกิจโลกที่ชะลอตัวอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะกดดันต่อความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ในระยะต่อไป

สำหรับการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.83 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.0% สำหรับการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.97 ล้านลิตร/วัน 15.95 ล้านลิตร/วัน และ 0.89 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ ขณะที่การใช้แก๊สโซฮอล์ อี20 และเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 5.49 ล้านลิตร/วัน และ 0.53 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ

- Advertisment -

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 72.20 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 18.6% การใช้ที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือโดยตรึงราคาให้ไม่เกิน 35 บาท/ลิตร ของมาตรการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจนถึงวันที่ 20 มกราคม 2566 และการใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 การใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 63.27 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลพื้นฐานเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 6.27 ล้านลิตร/วัน ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดาปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 2.46 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้ 0.19 ล้านลิตร/วัน

ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนตุลาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 70.36 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 19.8% โดยการใช้น้ำมันดีเซลในภาคไฟฟ้ามีปริมาณการใช้อยู่ที่ 7.92 ล้านลิตร/วัน

การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 8.20 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 88.2%  เนื่องจากการผ่อนคลายมาตรการการบินและการเดินทางเข้า-ออกประเทศ ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารและเที่ยวบินจากต่างประเทศที่เดินทางเข้า-ออกประเทศไทยมีมากขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้การท่องเที่ยวและการเดินทางฟื้นตัว ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลต่อความต้องการใช้เชื้อเพลิง

ด้านการใช้ LPG เดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 17.80 ล้านกิโลกรัม(กก.)/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน  7.8% เนื่องจากการใช้ในทุกภาคเพิ่มขึ้น โดยภาคขนส่งอยู่ที่ 2.16 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้น 27.9% ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.04 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้น 10.8% ภาคปิโตรเคมีอยู่ที่ 7.88 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้น 6.6% และภาคครัวเรือนอยู่ที่ 5.71 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้น  2.3%

การใช้ NGV เดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 3.39 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.7%

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,013,964 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.6% โดยการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 945,562 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 11.1% โดยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 109,354 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้น 91.7% สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 68,403 บาร์เรล/วัน คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 5,890 ล้านบาท/เดือน

การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกอยู่ที่ 162,238 บาร์เรล/วัน ลดลง 18.7% คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 20,880 ล้านบาท/เดือน เพิ่มขึ้น 46.2%

Advertisment