ยอดการใช้น้ำมันของไทย 5 เดือนแรก ยังลดลง จากผลกระทบโควิด-19

2703
N2032
- Advertisment-

กรมธุรกิจพลังงานเผยตัวเลขภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรอบ 5 เดือนของปี 2564 (มกราคม-พฤษภาคม) ยังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยลดลงร้อยละ 2.4 แต่เฉพาะน้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ลดลงมากถึงร้อยละ 58.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวถึงภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันรอบ 5 เดือนของปี 2564 (มกราคม-พฤษภาคม) ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.4 โดยสาเหตุหลักมาจากการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) ที่ลดลงร้อยละ 58.9 สำหรับการใช้กลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ กลุ่มดีเซลลดลงร้อยละ 0.5 น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5 น้ำมันก๊าดลดลงร้อยละ 1.9 LPG เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 และ NGV ลดลงร้อยละ 20.3

การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 29.8 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0) อย่างไรก็ตาม ปริมาณดังกล่าวยังเป็นระดับที่ต่ำกว่าปกติ ทั้งนี้ พบว่าปริมาณการใช้กลุ่มแก๊สโซฮอล์ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 29.1 ล้านลิตร/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.3) โดยเฉพาะแก๊สโซฮอล์ 95 ที่เพิ่มขึ้นจาก 13.6 ล้านลิตร/วัน มาอยู่ที่ 15.2 ล้านลิตร/วัน ในขณะที่การใช้น้ำมันเบนซินลดลงมาอยู่ที่ 0.7 ล้านลิตร/วัน (ลดลง ร้อยละ 10.9)

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาการใช้กลุ่มเบนซินเฉพาะเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่าการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 26.0 ล้านลิตร/วัน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (เดือนเมษายน 2564 อยู่ที่ 29.9 ล้านลิตร/วัน) (ลดลง ร้อยละ 12.9) โดยเป็นการลดลงของทุกชนิดน้ำมัน เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น ในขณะที่จำนวนการได้รับวัคซีนยังอยู่ในระดับต่ำ (ตัวเลขสะสมตั้งแต่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 – 31 พฤษภาคม 2564 เข็มที่ 1 อยู่ที่ 2,539,491 ราย และเข็มที่ 2 อยู่ที่ 1,125,368 ราย ประกอบกับมาตรการควบคุมของภาครัฐ การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนและทำงานแบบ Work from home จึงส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 65.6 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย (ลดลง ร้อยละ 0.5) สำหรับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วบี7 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 38.8 ล้านลิตร/วัน (ลดลง ร้อยละ 18.7) น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ซึ่งเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 23.6 ล้านลิตร/วัน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 มีปริมาณการใช้อยู่ที่ 1.1 ล้านลิตร/วัน 
การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 4.7 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน(ลดลง ร้อยละ 58.9) เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยวและการเดินทางโดยเครื่องบิน ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ 

นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉพาะเดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า การใช้ลดลงจาก 5.6 ล้านลิตร/วัน ในเดือนเมษายน 2564 มาอยู่ที่ 4.0 ล้านลิตร/วัน สอดคล้องกับการใช้กลุ่มเบนซินในเดือนพฤษภาคม 2564 ที่หดตัวลง เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19
การใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 16.3 ล้าน กก./วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.2) โดยปริมาณการใช้ ในภาคปิโตรเคมีอยู่ที่ 7.0 ล้าน กก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.9) ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้อยู่ที่ 1.9 ล้าน กก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.7) และภาคครัวเรือนมีการใช้อยู่ที่ 5.7 ล้าน กก./วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.0) อย่างไรก็ตาม การใช้ในภาคขนส่งลดลงมาอยู่ที่ 1.8 ล้าน กก./วัน (ลดลง ร้อยละ 12.0)

การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.3 ล้าน กก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน (ลดลง ร้อยละ 20.3) โดยเป็นผลต่อเนื่องจาก การแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับจำนวนสถานีบริการและรถ NGV ที่ลดลง

การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564 เฉลี่ยอยู่ที่ 919,073 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.6) โดยการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 878,258 บาร์เรล/วัน (ลดลง ร้อยละ 0.04) อย่างไรก็ตาม มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 51,306 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.1) เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่สูงขึ้น สำหรับการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) เพิ่มขึ้นมา อยู่ที่ 40,814 บาร์เรล/วัน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.0) คิดเป็นมูลค่านำเข้ารวม 2,468 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 53.0)
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2564 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ไบโอดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกลดลงมาอยู่ที่ 179,024 บาร์เรล/วัน (ลดลง ร้อยละ 13.0) คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 11,114 ล้านบาท/เดือน (เพิ่มขึ้น ร้อยละ 22.3)

Advertisment