มอบปตท.ศึกษาลดซื้อก๊าซอ่าวไทย ให้นำเข้าLNG ช่วงราคาถูกทดแทน หวังยืดอายุแหล่งก๊าซ

1852
- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงาน มอบนโยบาย ปตท. ศึกษาชะลอการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย และหันไปนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)ที่ยังอยู่ในช่วงที่มีราคาถูกแทน  หวังยืดอายุปริมาณสำรองก๊าซในประเทศไว้ให้ใช้ได้นานขึ้น

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ได้มอบนโยบายให้ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ไปศึกษาแนวทางการชะลอการผลิตก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย และให้หันไปซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG)จากต่างประเทศในช่วงนี้ทดแทน เนื่องจากLNG ในตลาด มีราคาถูกลงมาก โดยหากศึกษาแล้วพบว่าราคา LNG ถูกกว่าที่ผลิตได้ในประเทศ ก็ควรใช้โอกาสดังกล่าวสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ เพื่อรักษาทรัพยากรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยไว้ใช้ในระยะยาวต่อไป

นอกจากนี้เป้าหมายที่กระทรวงพลังงานต้องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)ซื้อขายก๊าซ LNG ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปี 2563 นั้น ก็ได้ให้ ปตท.ไปศึกษาดูว่า หากอาศัยจังหวะที่ราคา LNG ตลาดโลกถูก และซื้อเข้ามาใช้และส่งออก แทนการผลิตก๊าซฯในประเทศ จะเหมาะสมหรือไม่

- Advertisment -

สำหรับความคืบหน้าในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติหลัก (Global DCQ) ระหว่าง ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่จะนำมาใช้กับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ระยะยาวประมาณ 10 ปีนั้น ขณะนี้ทั้งฝ่าย ปตท.และ กฟผ.ได้ยอมรับข้อเสนอระหว่างกันแล้ว ซึ่งคาดว่าจะไม่มีปัญหาอะไร

ผู้สื่อศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy New Center-ENC) รายงานว่า ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ระบุถึงการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย ในปี2562 มีปริมาณเฉลี่ย 5,034 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยเป็นการจัดหาได้จากอ่าวไทย ซึ่งมีการผลิตอยู่ที่ 3,619 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน  จากเมียนมาร์ผ่านท่อส่งก๊าซ และนำเข้าLNG รวม1,416ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน โดยปตท.มีสัญญาระยะยาวในการนำเข้า LNG อยู่ที่ 5.2 ล้านตัน ต่อปี

  ทั้งนี้  นโยบายของนายสนธิรัตน์ ที่จะให้ลดการรับซื้อก๊าซจากอ่าวไทยนั้น สามารถทำได้ เนื่องจากที่ผ่านมา มีการเรียกซื้อก๊าซเพิ่มมากกว่าสัญญาขั้นต่ำที่ทำไว้กับผู้รับสัมปทานแหล่งก๊าซในอ่าวไทยอยู่แล้ว  โดยปริมาณรับซื้อก๊าซที่ลดลง จะถูกทดแทนด้วย LNG ที่เป็นสัญญาระยะยาวของปตท.ที่มีอยู่ 5.2ล้านตันต่อปีก่อน  และหากยังมีช่องว่างเหลือ จึงจะถูกเติมด้วย LNG  ในแบบตลาดจร หรือSPOT ที่มีราคาถูก

อย่างไรก็ตาม การลดปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทยลง จะมีผลให้รัฐจัดเก็บรายได้จากค่าภาคหลวงลดลงด้วย

Advertisment