ในฟันเฟืองใหญ่ที่ขับเคลื่อนบนเวทีโลก จนเป็นกระแสเรื่องสภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ที่ 196 ประเทศ ตกลงจะร่วมมือกันรักษาอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม โดยตั้งเป้าไว้ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ในเวทีการประชุมสมัชชารัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Conference of the Parties หรือเรียกสั้นๆว่า COP 26 เมื่อปี 2015 ที่กรุงปารีส ซึ่งครั้งนั้น นายกรัฐมนตรีของไทยไปประกาศเป้าหมายสำคัญว่าประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 ซึ่งล่าสุดในการประชุม COP 28 ที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ช่วง 30 พ.ย.-13 ธ.ค.2023 ประเทศไทยประกาศที่จะเร่งผลักดัน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ตามเป้าหมาย ทำให้หลายองค์กรในประเทศทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ เริ่มตื่นตัวกันมากขึ้น โดยมองไปถึงอนาคตข้างหน้าว่า ถ้าไม่ปรับตัวกันอย่างจริงจัง หลายประเทศที่เป็นคู่ค้ากับไทย อาจจะใช้เรื่อง Climate Change เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าได้
ในฟันเฟืองขนาดเล็กที่ขับเคลื่อนกันภายในประเทศนั้น ภาคอุตสาหกรรม โดยกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) มูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย ( RE100 )และมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ได้มองเห็นความเข้าใจที่ยังแตกต่างกันทั้งของคนที่อยู่ในวงการ องค์กรที่มีความสนใจในเรื่องภาวะโลกร้อน และ Climate Change จึงเห็นว่าควรจะต้องมีหลักสูตรให้ผู้บริหารระดับกลางในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนได้มาอบรม โดยให้วิทยากรที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญอยู่ในธุรกิจนั้นๆได้มาบรรยาย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างเป็นระบบ จึงเกิดเป็นหลักสูตร ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ กระทรวง อว. ชื่อว่า หลักสูตรการบริหารจัดการการเปลี่ยนผ่านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ( Energy Transition & Climate Change Management ) หรือ ETC
นที สิทธิประศาสน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. บอกถึงความสำคัญของหลักสูตร ETC ซึ่งมีการเปิดอบรมมาถึงรุ่นที่ 5 ว่าในหลักสูตรได้เชิญให้คนซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับงานโดยตรงมาสอนให้ผู้อบรมที่เป็นกลุ่มเป้าหมายได้เข้าใจกันง่ายๆ ในหัวข้อต่างๆ เช่น Climate Change คืออะไร ปัญหาเกิดจากอะไร ถ้าเกิดจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และจะมีอะไรที่จะมาตอบโจทย์ ลดละเลิกเชื้อเพลิงฟอสซิล มาใช้เชื้อเพลิงสะอาดมากขึ้น ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การออกแบบอาคาร ออกแบบโรงงานก็ต้องเป็นแบบประหยัดพลังงานเป็นต้น แล้วก็มาดูการกำจัดขยะ การทำเรื่อง3 R (Reduce, Reuse, Recycle ) คาร์บอนที่ปล่อยออกมา จะกักเก็บได้หรือไม่ และการกับเก็บคาร์บอนไว้เป็นเครดิตจะทำให้เกิดประโยชน์อย่างไร ต้องมีขั้นตอนในการทำอย่างไรบ้างในการได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต มีกลไกตลาดในการที่จะซื้อขายแลกเปลี่ยนที่ไหน อย่างไร ซึ่งเรื่องต่างๆถูกครอบคลุมอยู่ใน 6 Module ประกอบด้วย
Module 1 –Low Carbon Design
Module 2 – Energy Efficiency
Module 3 – Renewable Energy
Module 4 –Carbon Reduction / Removal
Module 5 –Carbon Credit
Module 6 –Digital Trading Platform
“ ความคาดหวังของผมที่อยากจะได้ก็คือ feedback จากคนที่เข้าอบรม ซึ่งผมเป็นหนึ่งในวิทยากรที่ร่วมบรรยายด้วย ว่าฟังกันในคลาสเรียนแล้วเข้าใจหรือไม่ มีข้อแนะนำอะไรเพื่อให้คนเรียนเข้าใจเรื่องได้มากขึ้น ภาษาที่เราใช้เป็นวิชาการเกินไปไหม มีอะไรที่เป็นจุดอ่อนของหลักสูตร อะไรที่ดีอยู่แล้ว ก็ช่วยบอกมาด้วย “ นที บอกถึงความคาดหวังของเขา
ETC รุ่นที่ 5 มีจำนวนของผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมอบรมรวมจำนวน 52 คน โดยการอบรมจะมีขึ้นสัปดาห์ละ 1 วันติดต่อกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ตั้งแต่วันพุธที่ 24 ม.ค.- 28 ก.พ. 2567 โดยผู้ที่มาเข้าอบรมในรุ่นที่ 5 มาจากหลายภาคส่วนทั้งเจ้าของธุรกิจ ผู้บริหารระดับกลางในองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน อาจารย์จากมหาวิทยาลัย สถาบันการเงิน และสื่อมวลชน ซึ่งส่วนใหญ่ต่างมองเห็นถึงความสำคัญของหลักสูตร จนมีการจัดไปดูงานเสริมหลักสูตรจากตารางการอบรมที่จัดเอาไว้เดิม ที่โรงไฟฟ้าซึ่งใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง ของบริษัทสยาม พาวเวอร์ ที่ อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี และร่วมกิจกรรมล่องเรือรอบเกาะเกร็ด เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันมากขึ้น โดยเป็นกิจกรรมตามความสมัครใจที่ผู้ดูงานต้องออกค่าใช้จ่ายกันเอง
ความน่าสนใจของการอบรม ETC รุ่นที่ 5 คือ เคมีของผู้ร่วมอบรมซึ่งเข้ากันได้ดี มีอุดมการณ์ร่วมกันที่จะมีส่วนในการลดโลกร้อน ทำให้สมาชิกผู้อบรมส่วนใหญ่ช่วยกันเลือกประธานรุ่นและคณะทำงานของรุ่น เพื่อที่ว่าเมื่อจบการอบรมในหลักสูตรวันสุดท้าย คือวันพุธที่ 28 ก.พ. 2567 แล้ว สมาชิกร่วมรุ่น 5 จะยังมีการพบปะทำกิจกรรมที่เห็นว่ามีประโยชน์ร่วมกันและอัพเดทประสบการณ์ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือเรื่องอื่นๆที่น่าสนใจกันต่อไป
ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันต์ อาจารย์และนักวิจัย จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (อาจารย์เบิร์ต) กล่าวว่า การเข้ามาอบรมในหลักสูตร ETC รุ่นที่ 5 ทำให้ได้รู้จักกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยให้ได้แง่คิดและมุมมองใหม่ๆ นำกลับมาใช้พัฒนางานวิจัยเพิ่มเติม เพราะงานวิจัยและนวัตกรรมนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากที่จะช่วยเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกช่วยลดโลกร้อนให้กับประเทศ
“ ปัจจุบันเทคโนโลยีที่นำมาใช้นั้นส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีที่เป็น stage เริ่มต้น ที่ต้องการการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้มีต้นทุนที่ต่ำลงและประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น เรื่องของ Carbon Capture ซึ่งการที่ประเทศไทยมีหลายองค์กรทั้งรัฐและเอกชนที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีต่างๆเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายเรื่อง Carbon Neutrality นั้น ถ้าเราไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยีเพื่อลดการนำเข้า เราก็ต้องเสียเงินตราต่างประเทศไปอีกเยอะมากๆ กว่าที่จะบรรลุเป้าหมายที่ไปประกาศเอาไว้ “ ผศ.ณัฐพล ให้ข้อคิด
ธันยพร สว่าง ( พลอย ) นักธุรกิจรุ่นใหม่ จาก Zubscribe ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานอีเวนต์ขนาดใหญ่ร่วมกับภาครัฐ เล่าถึงประโยชน์ที่ได้จากการอบรม ETC รุ่นที่ 5 ว่า “ได้ความรู้ในเชิงของทิศทางนโยบายที่จะเดินไปข้างหน้า ในฐานะที่เราเป็นผู้ประกอบการ เป็นเจ้าของธุรกิจ การที่เรามาลงเรียนก็เพื่อที่เราจะได้มองเห็นโอกาส ทิศทางของธุรกิจที่จะเป็นไปก่อนคนอื่น เราอยู่ในอุตสาหกรรมที่ทำงานร่วมกับภาครัฐค่อนข้างเยอะ การที่ได้รู้นโยบายล่วงหน้าก่อน มองเห็นอนาคตของประเทศได้ ก็จะทำให้เราสามารถร่วมกันทำงานกับภาครัฐได้ดียิ่งขึ้น “
ส่วน พิมพ์สิริ ตั้งยืนยง (แพม ) นักวิเคราะห์นโยบาย จากธนาคารแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้อบรม ETC รุ่นที่ 5 กล่าวว่า “ถ้าให้กล่าว 3 คำเกี่ยวกับหลักสูตร ETC คิดกี่ทีก็คงจะหนีไม่พ้นคำว่า “คุ้ม ค่า มาก” ค่ะ ทั้งในด้านความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ตั้งเเต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงต่อยอด ที่ครบถ้วนในทุกมิติตั้งเเต่เรื่องใกล้ตัว เช่น eco-design ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรม เช่น renewable energy และปิดท้ายด้วยเครื่องมือที่ภาครัฐสามารถใช้ในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านสิ่งเเวดล้อม เช่น คาร์บอนเครดิต เป็นต้น นอกเหนือจากองค์ความรู้ที่ได้รับเเล้ว ปัจจัยสำคัญหลักอีกประการหนึ่งที่ทำให้การไปเรียนหลักสูตร ETC “คุ้ม ค่า มาก” ก็คือมิตรภาพที่ได้จากห้องเรียน บรรยากาศที่เป็นกันเองและ background ที่หลากหลายของเพื่อนร่วมหลักสูตร เปิดโอกาสให้ทุกคนเเลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นได้อย่างเปิดกว้าง รู้กว้างและรู้ไกลขึ้นกว่าเดิม สุดท้ายนี้ รู้สึกโชคดีมากจริงๆ ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ETC รุ่นที่ 5 ค่ะ “
ชินาภา จิตรตั้งตรง ( นุช ) จากธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน ) เล่าถึงสิ่งที่ได้รับจากการเข้ามาอบรมว่า “ การได้มาเรียนคอร์ส ETC เหมือนเป็นการเปิดโลกใหม่ จากที่เคยได้รับรู้เกี่ยวกับเรื่อง carbon credit , carbon neutral หรือ net zero เพียงเล็กน้อย และไม่ค่อยเข้าใจกระบวนการต่างๆ ของการจะลดคาร์บอนได้ แต่หลังจากได้เรียนคอร์สนี้ ทำให้มองภาพอะไรหลายๆอย่างได้เข้าใจมากขึ้น ซึ่งสามารถนำความรู้ที่ได้นี้ไปใช้ในภาคธนาคารเพื่อเป็นฟันเฟืองหนึ่งในเป้าหมายของการเป็นโลกสีเขียวใบนี้ นอกเหนือจากความรู้ที่ได้จากวิทยากร หรือจากที่พี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ที่ได้มาแชร์ประสบการณ์จากงานที่ทำในด้านนี้แล้ว สิ่งที่ได้จากคอร์สนี้คือมิตรภาพที่ดีจากทุกท่านจากหลายๆ องค์กรที่มุ่งหวังจะทำให้โลกน่าอยู่และยั่งยืนสำหรับคนรุ่นหลังต่อไปค่ะ “
ณัฐธยาน์ รักพานิชมณี (จ๋า) ผู้บริหารจากบริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด หนึ่งในผู้เข้าอบรมเล่าบรรยายถึงความรู้สึกว่า “ รู้สึกโชคดีที่มีโอกาสมาอบรมหลักสูตร ETC รุ่นที่ 5 เนื่องจากได้เพิ่มพูนความรู้ให้ก้าวทันเป้าหมาย low carbon transition ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายและมาตรฐานต่าง ๆ รวมถึงแนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในฐานะวิศวกรที่ปรึกษา ความรู้เหล่านี้ล้วนสร้างแรงบันดาลใจในการนำไปพัฒนาวิสัยทัศน์การทำงานให้สอดคล้องและรองรับโอกาสใหม่ ๆ จากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เช่น การประยุกต์ low carbon design and technologies ในโครงการต่าง ๆ รวมถึงการตั้งเป้าหมายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการประเมินและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการลด carbon footprint เพื่อตอบสนองความต้องการขององค์กรต่าง ๆ ในการ achieve carbon neutrality หรือ net zero
ความโชคดีอีกประการหนึ่งในการได้เป็นส่วนหนึ่งของ ETC รุ่นที่ 5 คือการได้มารู้จักพี่ ๆ ทุกคนที่ล้วนมีความสามารถจากต่างสาขาอาชีพและหน่วยงาน มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังประสบการณ์ที่เพิ่มเติมความรู้และมุมมอง อีกทั้งความสนิทสนมกันระหว่างผู้อบรมทำให้บรรยากาศในการเรียนรู้สนุกยิ่งขึ้น นอกจากนั้นการที่ได้ไปศึกษาดูงานที่โรงไฟฟ้าพลังงานขยะทำให้ได้เห็นนวัตกรรมและกระบวนการที่เกิดขึ้นจริงและอยู่ในระยะดำเนินงานจริง โดยรวมแล้วประสบการณ์การเรียนรู้ของหลักสูตรจึงไม่ได้อยู่แค่เพียงในเนื้อหาของการอบรมเท่านั้น “
ธิญาดา เมฆพงษ์สาทร (เฟิร์น) ผู้บริหารจาก บริษัทเอเชีย ไบโอแมส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ ได้ความรู้หลายๆเรื่องที่เกี่ยวกับพลังงานไม่ว่าจะเป็นเรื่องcarbon credits, การกักเก็บcarbon, กฎหมายและนโยบายพลังงานของประเทศต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ ต่อยอดและปรับรูปแบบของธุรกิจเพื่อให้ทันต่อความต้องการของโลก รวมไปถึงได้รู้จักพี่ๆในวงการพลังงานหลายท่าน ได้แชร์มุมมอง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ที่มีประสบการณ์จากหลากหลายวงการค่ะ “
กฤษฎา ตั้งกิจ (เจฟ ) จากบริษัทปันโปรโมชั่น จำกัด บริษัทด้านมีเดียมาร์เก็ตติ้ง ที่ดังมากในวงการ กล่าวถึงการเข้ามาร่วมอบรมทั้งในคลาสและได้ร่วมแชร์ประสบการณ์หลังเลิกคลาส ว่า “ ได้ความรู้เชิงวิชาการในหลายๆเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องการลดการปล่อยคาร์บอน รวมทั้งความรู้นอกคลาสเรียน จากการไปนั่งแชร์ประสบการณ์กันต่อ สามารถที่จะนำไปใช้ในงานอาชีพเราได้เยอะ เพราะเราทำเรื่องมีเดีย เมื่อเรามีความเข้าใจแล้วก็จะยิ่งช่วยสื่อสารให้คนอื่นๆให้เข้าใจเรื่องได้ง่ายยิ่งขึ้น “
เทพกิจ ฉัตรสุริยาวงศ์ (ปิ๊ก ) ผู้ประกาศข่าว ช่อง 8 กล่าวว่า ” ดีใจมากครับที่ได้เป็นส่วนนึงของหลักสูตร ETC 5 ถือเป็นกลับเข้าสู่ห้องเรียนอีกครั้งของผม และเป็นการเปิดโลกทรรศน์ใหม่ๆในการเรียนรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากได้เพิ่มพูนความรู้ทางด้านพลังงานมากขึ้นแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ๆกับเพื่อนๆพี่ๆที่มาจากหลายองค์กร ขณะเดียวกันยังได้รับประสบการณ์นอกห้องเรียนจากกิจกรรมศึกษาดูงาน เช่น โรงไฟฟ้า โรงผลิตกาแฟ เป็นต้น และที่ขาดไม่ได้คือการได้มิตรภาพดีๆจากเพื่อนๆพี่ๆร่วมรุ่นด้วยครับ “
รังสรรค์ อรัญมิตร (สุดเท่) บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวเท็นนิวส์ ซึ่งรายงานเจาะลึกวงการพลังงานและคมนาคม กล่าวว่า “การเข้าอบรมหลักสูตร ETC รุ่นที่ 5 เป็นการปลุกไฟในตัวเองให้กลับมาลุกโซนอีกครั้งที่สามารถนำไปต่อยอดพัฒนางานของตัวเอง แม้ในบางหัวข้อจะเป็นเรื่องเทคนิคเชิงลึกแต่ในบางหัวข้อก็สามารถนำเอาความรู้ที่ได้มาต่อยอด หรือปรับใช้กับงานข่าวได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้รู้จักเพื่อนในสาขาวิชาชีพอื่นๆ ในหลายระดับ ทั้งระดับพนักงาน ผู้บริหาร เจ้าของกิจการ แม้กระทั่งวิทยากร ทุกคนล้วนแต่เอาประสบการณ์มาแชร์กัน ไม่ได้แค่เพียงการเรียนรู้ในห้องแต่ยังได้เรียนรู้หลังเลิกคลาสด้วย “
ปิดท้ายด้วยประธานรุ่น ETC รุ่น 5 พงค์พันธ์ เพ็งเพา (ติ่ง) ที่เพิ่งเออร์รี่จากตำแหน่ง ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาสารสนเทศระบบตลาด กองส่งเสริมและบริหารระบบตลาด กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้ามาอบรมว่า “ อยากจะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ 1. ระยะช่วง ระหว่างอบรม ได้รู้จักคนต่างอาชีพต่างวัยเพิ่มขึ้น เป็นกำไรชีวิต กว่า 50 คน ที่ร่วม Class ซึ่งมีตั้งแต่วัยเลยเบญจเพสจนวัยเลย 60 ปี ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้และเข้าใจแนวคิดคนในแต่ละวัยได้เป็นอย่างดี 2. ระยะช่วงที่วิทยากรบรรยายความรู้และเปิดโอกาสให้มีการสอบถามแลกเปลี่ยนในประเด็นแต่ละ Module กับ วิทยากรที่เชี่ยวชาญและรู้ลึกรู้จริง และมีบทบาทในการขับเคลื่อนเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานและเทรนด์ของสภาพภูมิอากาศโลกซึ่งทุกประเทศจำเป็นต้องปฏิบัติ เพราะมันเกี่ยวข้องทั้งการค้าขายสินค้าและบริการไปต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว 3.ระยะช่วงหลังการอบรมจบในแต่ละวันหรือการดูงาน ทำให้มีโอกาสได้กระชับสัมพันธ์เชิงลึกโดยการได้ทานอาหารร่วมกันและได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ช่วยให้เกิดแนวคิดที่จะทำหรือผลักดันร่วมกันให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยและสังคมโลก
ส่วนคำถามถึงบทบาทของ ประธานรุ่น ETC 5 อยากทำอะไรบ้าง พงค์พันธ์ ตอบว่า “ อยากจะบอกอย่างนี้นะครับ เมื่อได้ความรู้จากการอบรมยิ่งทำให้เห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องร่วมมือกันทั้งประเทศไม่ใช่เฉพาะองค์กรธุรกิจ เนื่องจากเรื่องนี้จะต้องมีกฎหมายมากำกับในการปฏิบัติ เพราะมันเป็นเทรนด์โลก และสภาพภูมิอากาศมันจะต้องเกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของตัวเราโดยตรง คือภาวะโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องและมีส่วนในการทำให้โลกร้อนซึ่งจะว่าไปแล้วก็แทบจะทุกองค์กรเลยทีเดียว
ต้องขอขอบคุณพี่ๆเพื่อนๆน้องๆร่วมรุ่น ที่มอบความไว้วางใจให้เป็นประธานรุ่น แม้ความจริงแล้วไม่ได้มีบทบาทหน้าที่อะไรที่เขียนไว้ที่เป็นตัวชี้วัดของประธานว่าจะต้อง ทำอะไรบ้าง แต่เป็นเรื่องของความสมัครใจ อาสาสมัครเพื่อมาเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ connection และเกิดขึ้นแล้วจากการที่ได้รู้จักกันเพื่อให้คงอยู่ยาวนาน และใช้ประโยชน์จากการรู้จักกันแล้วให้เกิดพลังเพื่อต่อยอดความสำเร็จในงานของแต่ละคนซึ่งอาจจะช่วยสนับสนุนงานของแต่ละคนในทางใดทางหนึ่งก็ได้โดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นในทางอ้อมมากกว่าทางตรง แม้เรามีเวลาอบรมอาทิตย์ละครั้งในเวลา 2 เดือน แต่ก็มองเห็นและได้ความรู้ว่าประเทศไทยต้องมีความจริงจังและซีเรียสเกี่ยวกับเรื่องภาวะโลกร้อนซึ่งจะมีผลต่อสินค้าและบริการที่ส่งออกไปขายยังคู่ค้าหรือคู่ค้ามาใช้บริการหรือส่งสินค้ามายังประเทศไทยเนื่องจากเป็นตัวชี้วัดผลกำไรขาดทุนได้ “
ยังไม่ทราบว่าจะมีการเปิดอบรมหลักสูตร ETC รุ่น 6 ซึ่งเป็นรุ่นต่อไปอีกเมื่อไหร่ สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ ผศ.ดร.พรรณทิพย์ กาหยีหรือ อาจารย์ยุ้ย จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่เบอร์โทร 0909584888