ประกาศใช้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ในราชกิจจานุเบกษา แล้ว มีผลให้รัฐต้องเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้ง แก๊สโซฮอล์E20 E85 ไบโอดีเซลB10 และB20 ภายใน3ปี โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดเพดานวงเงินรวมเงินกู้ไม่เกิน4หมื่นล้านบาทและหากไม่พอขออนุมัติ คณะรัฐมนตรีกู้เพิ่มได้อีกไม่เกิน2หมื่นล้านบาท (การเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินทำได้โดยการตราพระราชกฤษฎีกา )ทั้งนี้ยังสามารถนำเงินไปหาดอกผลเพื่อเป็นรายได้ให้กับกองทุนได้ พร้อมให้เจ้าหน้าที่สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีอำนาจเข้าไปในสถานที่ทำการ ปั๊มน้ำมัน โรงกลั่น สถานที่เก็บ ในเวลาทำการเพื่อตรวจสอบเอกสารหรือ หลักฐานที่เกี่ยวข้องได้ โดยกำหนดบทลงโทษผู้ที่ขัดขวางการปฏิบัติงาน หรือไม่ส่งบัญชี เอกสารหรือหลักฐาน ให้เจ้าหน้าที่ ทั้งจำคุกและปรับ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center –ENC ) รายงานว่า พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 ซึ่งเป็นกฏหมายฉบับใหม่ ที่จะมาใช้บริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเดิม ได้มีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา โดยสาระสำคัญของกฏหมายฉบับดังกล่าว จะส่งผลให้กระทรวงพลังงาน ต้องยกเลิกการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งได้แก่ แก๊สโซฮอล์E20 E85 ไบโอดีเซลB10 และB20 ภายใน3ปี จากปัจจุบัน ที่ รัฐนำเงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปชดเชยราคา แก๊สโซฮอล์ E20 ในอัตรา0.78 บาทต่อลิตร แก๊สโซฮอล์ E 85 ในอัตรา 6.38 บาท ต่อลิตร ไบโอดีเซล B10 ในอัตรา0.65บาทต่อลิตร และไบโอดีเซลB 20 ในอัตรา4.50 บาท ต่อลิตร โดยให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่แต่งตั้งขึ้นมาใหม่ ดำเนินการออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และมาตรการ เพื่อลดการจ่ายเงินชดเชยทุกรอบระยะเวลาหนึ่งปี และให้นำประกาศดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีก็มีอำนาจที่จะให้ ขยายระยะเวลา การชดเชยราคาน้ำมันที่มีส่วนผสมเชื้อเพลิงชีวภาพดังกล่าวต่อไปได้ ตามคำแนะนำของ กพช. แต่ขยายระยะเวลาได้อีกไม่เกิน 2ครั้ง ครั้งละไม่เกิน2ปี
ทั้งนี้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งรวมถึงก๊าซLPGและNGVในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ในกรณีที่เกิดวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง เท่านั้น ซึ่งจะแตกต่างจากก่อนหน้านี้ที่มีการนำเงินจากกองทุนน้ำมันไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆด้วย โดยกระทรวงพลังงานซึ่งเป็นผู้นำเสนอกฏหมายฉบับดังกล่าว เห็นว่า รายได้หลักของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มาจากการจัดเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมัน จึงไม่ควรจะนำไปอุดหนุนเกษตรกรผู้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งในส่วนของเอทานอล และไบโอดีเซล ซึ่งการให้ความช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรควรจะเป็นเรื่องของการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลลงมาเป็นการเฉพาะ ในลักษณะเดียวกับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย
ในการดำเนินงานของกองทุนฯตามมาตรา26 มีกำหนดวงเงินให้เพียงพอกับการบริหารกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อรวมวงเงินกู้แล้วต้องไม่เกิน4หมื่นล้านบาทและหากไม่พอสามารถขออนุมัติ คณะรัฐมนตรีกู้เพิ่มได้อีกไม่เกิน2หมื่นล้านบาท (การเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินทำได้โดยการตราพระราชกฤษฎีกา ตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ )
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ใน มาตรา6 ของพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังกำหนดแหล่งที่มาของเงินกองทุน ที่จะมาจากเงินและทรัพย์สินที่โอนมาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเดิม เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้กรณีที่มีเหตุฉุกเฉินจำเป็น เงินที่ส่งเข้ากองทุน จากผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง เงินกู้ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ และดอกผลหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน รวมทั้ง ค่าตอบแทนหรือ ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินงาน เงินที่ได้จากการจำหน่ายทรัพย์สิน การจัดหารายได้ ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้มีการนำเงินที่สะสมในกองทุน ไปแสวงหาประโยชน์จากดอกผลอื่นๆได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด เช่น การนำไปฝากธนาคารเพื่อได้รับดอกเบี้ย หรือการไปลงทุนในพันธบัตร จากเดิมที่ไม่สามารถดำเนินการได้
โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ตั้งขึ้นใหม่ ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นรองประธาน ส่วนกรรมการประกอบด้วย ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงคมนาคม,ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน อธิบดีกรมบัญชีกลาง และผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คนนั้น ทาง คณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้แต่งตั้ง ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานนำเสนอ ซึ่งดำรงตำแหน่งคราวละ4ปี และห้ามดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน2 วาระ
ในส่วนของอำนาจและหน้าที่ตามกฏหมายนั้น จะเน้นไปที่การ เสนอแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและแผนยุทธศาสตร์กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง การรายงานผลการประเมินการปฏิบัติงานและการเสนอแนะมาตรการแก้ไขปัญหาอุปสรรค การปฏิบัติการตามแผน ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ รวมไปถึงการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการส่งเงินเข้ากองทุนหรือได้รับเงินชดเชยและกำหนดอัตราเงิน ส่งเข้ากองทุน การออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กร การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน และการดำเนินงานอื่นของกองทุนและสำนักงาน บริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จะตั้งขึ้นใหม่ เป็นต้น
สำหรับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่คณะกรรมการจะเป็นผู้สรรหา ถูกกำหนดไว้ในกฎหมายว่า จะต้อง มีอายุไม่เกิน65 ปี และสามารถทำงานเต็มเวลาได้ ซึ่งในระหว่างนี้ ให้ทางผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงานตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) คือนายวีระพล จิรประดิษฐกุล ปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน ทั้งนี้ ปัจจุบันนายวีระพล มีอายุ 64ปี แล้ว จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ คณะกรรมการ จะสรรหา บุคคลใหม่ที่สามารถทำงานจนครบวาระ4 ปี มาทำหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงาน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แทนนายวีระพล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในพ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ยังให้อำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ สามารถ เข้าไปในสถานที่ทำการ โรงกลั่น สถานที่เก็บ และสถานีจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ในระหว่าง เวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของสถานที่นั้น เพื่อตรวจสอบเอกสารหรือ หลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการกระทำใดที่อาจเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
นอกจากนี้ยังกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ที่มีหน้าที่ส่งเงินเข้ากองทุนตามกฎหมาย แต่ส่งเงินไม่ครบหรือไม่ส่งเงิน ที่ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองแสนบาทหรือปรับไม่เกินห้าเท่าของ จำนวนที่ต้องส่งหรือจำนวนที่ขาด แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า
หรือหากมีการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ ก็จะ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนบทลงโทษสำหรับผู้ที่ไม่ให้ถ้อยคำ หรือไม่ส่งบัญชี เอกสารหรือหลักฐาน หรือวัตถุใดแก่พนักงาน เจ้าหน้าที่ ก็มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกิน หกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ด้านนายวีระพล จิรประดิษฐกุล ผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน(องค์การมหาชน) หรือ สบพน. เปิดเผยว่า พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลบังคับใช้จริงในอีก 120 วัน ซึ่งจะส่งผลให้การใช้เงินและการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯมีกฎหมายรองรับชัดเจน โดยในระหว่างนี้ทาง สบพน. จะทำหน้าที่ดูแลกองทุนน้ำมันต่อไปก่อน
ทั้งนี้ทางสบพน. จะใช้ช่วงเวลา 120 วันหารือกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เพื่อกำหนดขอบข่ายการทำงานระหว่างกันให้ชัดเจนทั้งด้านกฎหมาย ภาระหน้าที่ รวมถึงการจัดตั้ง “สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” ขึ้นมาปฏิบัติหน้าที่แทน สบพน.
นายวีระพล กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)จะเป็นผู้อนุมัติการใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แต่เมื่อมีกฎหมายใหม่ จึงต้องเปลี่ยนบทบาท กบง. เป็นผู้กำหนดนโยบายแทน