“พีระพันธุ์”ชี้ทางออกปัญหา OCA ไทย-กัมพูชาต้องคุยเฉพาะเรื่องผลประโยชน์ด้านพลังงาน ไม่แตะเรื่องเส้นแบ่งเขตแดน

819
- Advertisment-

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานชี้ทางออกปัญหาการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา (Overlapping Claims Area -OCA)ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาล ว่า จะต้องเดินหน้าเจรจาเฉพาะแนวทางการเข้าไปใช้ประโยชน์ด้านพลังงานเท่านั้น โดยไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเส้นแบ่งเขตแดน เสนอจัดตั้งเป็นองค์กรหรือบริษัทร่วมลงทุนที่ผ่านความเห็นชอบจากทั้งรัฐบาลไทยและกัมพูชา เข้าไปดำเนินการ

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมาถึงการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลเศรษฐา ที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาเรื่องการเจรจาปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา ( Overlapping Claims Area -OCA ) ที่มีศักยภาพที่จะสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียม ว่า รัฐบาลจะต้องปรับแนวทางการเจรจากับทางกัมพูชา ให้เดินหน้าเฉพาะเรื่องของการเข้าไปใช้ประโยชน์ทางด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการแบ่งเขตแดน โดยเสนอรูปแบบการตั้งองค์กรหรือบริษัทร่วมกันที่ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาเข้าไปมีหุ้นส่วนและได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลของทั้งสองประเทศ เนื่องจากการนำเรื่องการเจรจาเพื่อแบ่งเขตแดนไปผูกติดกับการใช้ประโยชน์เรื่องพลังงานที่อยู่ใต้ดิน จะไม่มีทางประสบความสำเร็จ

“การหยิบเรื่องเส้นเขตแดนขึ้นมาเจรจากันจะไม่มีวันจบ เพราะมันไม่มีประเทศไหนจะยอมรับการเปลี่ยนแปลงเส้นเขตแดนได้  แล้วเราก็โต้แย้งกันลำบาก เพราะแนวเขตแดนของเรากับที่เขาอ้างอิง มันถูกกฎหมายด้วยกันทั้งคู่ เพียงแต่เป็นกฎหมายที่เกิดคนละช่วงเวลา มันจึงไม่สามารถบอกกันได้เด็ดขาดว่าใครถูกหรือใครผิด  ดังนั้นเมื่อยังบอกไม่ได้ว่าใครถูกใครผิด แล้วเราเอาเรื่องของการแบ่งเขตแดนมาเกี่ยวข้องกับการเจรจาเรื่องพลังงานที่อยู่ใต้ดิน มันจึงไม่มีทางจะคุยกันได้ “ นายพีระพันธุ์ กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าว

- Advertisment -

พร้อมแสดงความไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะทุ่มเทงบประมาณ ขีดความสามารถของภาครัฐไปเจรจาเรื่องนี้ เพื่อให้เอกชนที่รออยู่เฉยๆได้ประโยชน์ แต่เป็นเรื่องที่ควรให้ภาคส่วนอื่นๆ เป็นผู้เจรจาเฉพาะเรื่องพลังงาน ที่ไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของเส้นเขตแดน  เพราะการนำเรื่องเขตแดนเข้ามาเกี่ยวข้องทำให้ต้องมีบทบาทของกระทรวงการต่างประเทศ  ทั้งๆที่กระทรวงการต่างประเทศไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องพลังงาน

“ สิ่งที่เราต้องการใน OCA คือเรื่องพลังงาน ไม่ใช่การแบ่งเขตแดน ดังนั้นจึงต้องคุยกันเฉพาะเรื่องพลังงาน ตราบใดที่เอาสองเรื่องนี้มาผูกกัน ไม่มีวันได้จบ ไม่มีวันได้ใช้พลังงาน  ส่วนจะจัดสรรผลประโยชน์ด้านพลังงานอย่างไร  สมมุตว่าไทยกับกัมพูชาร่วมกันตั้งบริษัท หรือองค์กรใดขึ้นมา ถือหุ้นร่วมกันแล้วไปคุยกับรัฐบาล เมื่อรัฐบาลทั้งสองฝ่ายต่างเห็นชอบ องค์กรที่ตั้งขึ้นมาก็ย่อมเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ โดยที่ไม่ต้องเกี่ยวกับเรื่องเส้นเขตแดน “ นายพีระพันธุ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ที่ผ่านมาการเจรจา OCA ไทย- กัมพูชา ดำเนินการภายใต้กรอบเอ็มโอยู 2544 ผ่านคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา  ซึ่งคณะกรรมการฝ่ายไทย ปัจจุบันมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้ต้องมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เพื่อเป็นตัวแทนฝ่ายไทยไปเจรจากับฝ่ายกัมพูชา

โดยปัญหาของพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชานั้น เกิดขึ้นจากการที่กัมพูชาชิงประกาศเขตไหล่ทวีปในอ่าวไทย เมื่อปี 2515 ก่อนที่ไทยจะประกาศในปี 2516 ซึ่งต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ   โดยต่างขีดเส้นล้ำเข้ามาทับเส้นของอีกฝ่าย ทำให้เกิดเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันกว่า 26,000 ตร.กม. ซึ่งเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้น สิทธิสัมปทานที่ทั้งไทยกับกัมพูชาให้กับบริษัทเอกชนด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จึงยังไม่มีใครสามารถเข้าไปดำเนินกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมได้

ทั้งนี้พื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา มีความสำคัญเพราะลักษณะโครงสร้างทางธรณีวิทยาเป็นแอ่งที่เรียกว่า Pattani Basin ซึ่งเชื่อว่ามีศักยภาพที่จะสำรวจพบแหล่งก๊าซธรรมชาติ และแหล่งน้ำมันดิบในปริมาณสำรองไม่น้อยไปกว่าที่สำรวจพบมาแล้วในเขตทางทะเลฝั่งไทย โดยพื้นที่ในส่วนทางใต้ของ OCA นั้น ติดกับแหล่งเอราวัณ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติแห่งแรกของไทย ที่ปัจจุบันแม้จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว ก็ยังคงมีปริมาณสำรองเหลือพอผลิตต่อไปได้อีก 10 ปีภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิต

สำหรับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ที่ลงนามโดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กับนาย ซก อัน รัฐมนตรีอาวุโสประจำสำนักนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ในขณะนั้นเรียกว่า เอ็มโอยู 2544 ( MOU 2001 ) มีสาระสำคัญ 5 ประเด็น โดยสรุปได้ว่า ให้มีการกำหนดพื้นที่ที่จะมีการพัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมร่วมกัน การกำหนดพื้นที่ที่จะมีการแบ่งเขตพื้นที่ไหล่ทวีปและเขตเศรษฐกิจจำเพาะทางทะเล โดยทั้งการกำหนดเขตแดนและการพัฒนาพื้นที่ร่วมกันนั้นจะต้องดำเนินการทำข้อตกลงไปด้วยกันไม่สามารถแบ่งแยกได้ ( Indivisible package )และ มีการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค ( Joint Technical Committee -JTC ) ไทย-กัมพูชา เป็นกลไกในการเจรจา

สำหรับกลไกในการเจรจาแก้ไขปัญหา OCA ภายใต้ JTC ไทย-กัมพูชา จะมีคณะอนุกรรมการร่วมด้านเทคนิค (Sub-JTC) ฝ่ายไทย ที่มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งมีคณะทำงานย่อยอีก 2 คณะ คือ คณะทำงานว่าด้วยการกำหนดพื้นที่พัฒนาร่วมทางทะเล มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเป็นหัวหน้าคณะ และคณะทำงานเกี่ยวกับระบอบพัฒนาร่วม มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นหัวหน้าคณะ

โดยสถานะการเจรจานับตั้งแต่ที่ลงนามใน MOU 2544 คณะกรรมการร่วม JTC มีการจัดประชุมไป 2 ครั้ง  หารืออย่างไม่เป็นทางการของประธานJTC ฝ่ายไทยและกัมพูชา 4 ครั้ง Sub-JTC ประชุม 2 ครั้ง

การประชุมคณะทำงานชุดที่มีอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ เป็นหัวหน้าคณะ 1 ครั้ง และชุดที่มีอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นหัวหน้าคณะ ประชุม 6 ครั้ง

Advertisment