พีทีที โออาร์ เปิดสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น สาขาสามย่าน รูปแบบใหม่ หวังตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของสังคมเมือง โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมอันทันสมัยมาประยุกต์ใช้ ให้รองรับการจ่ายเงินได้ทุกประเภท ทั้งเงินสด บัตรเดบิต บัตรเครดิต กระเป๋าเงินอิเลคทรอนิกส์ (e-Wallet) และไดนามิคคิวอาร์โค้ด (Dynamic QR Code)เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างรวดเร็วในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน ซึ่งสามารถลดเวลาจอดรอได้สูงสุด 43% และ ลดเวลาการให้บริการสูงสุด 41% เมื่อเทียบกับสถานีบริการฯ รูปแบบเดิม
โดยพิธีเปิดมีนางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ พีทีที โออาร์ และศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิตย์ เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าร่วม
นางสาวจิราพร กล่าวว่า สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น สาขาสามย่าน ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชน ทำให้มีปริมาณการเข้ามาใช้บริการสูงมาก ในขณะที่พื้นที่ของสถานีบริการฯ มีขนาดจำกัด ดังนั้นการออกแบบพื้นที่และรูปแบบสถาปัตยกรรมจึงต้องคำนึงถึงความต้องการของสังคมเมือง ที่ต้องรองรับปริมาณรถยนต์ ได้ในช่วงเวลาเร่งด่วน (Rush Hour) มีการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ได้สูงสุด และมีความรวดเร็วในการให้บริการทุกขั้นตอน เพื่อลดผลกระทบด้านจราจรและสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับผู้ใช้บริการ
สถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น สาขาสามย่าน ถูกออกแบบให้มีความแตกต่างจากสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น แห่งอื่น ให้มีการจราจรภายในที่คล่องตัว เช่น การเดินรถแบบวงเวียน ทำให้รถเคลื่อนที่ไปในทางเดียวกัน และวนต่อเนื่องได้ ไม่เกิดแถวคอยกีดขวางรถคันอื่น ๆ มีการแยกพื้นที่บริการรถที่มีขนาดต่างกัน (Zoning)
อีกทั้งยังมีการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัย มีนวัตกรรมเพื่อลดระยะเวลาการเติมน้ำมัน โดยการติดตั้งตู้จ่ายพิเศษที่สามารถจ่ายน้ำมันได้ครบทุกผลิตภัณฑ์ในทุกตู้จ่าย และสามารถจ่ายน้ำมันด้วยอัตราการไหลสูงสุดของตู้จ่ายตลอดเวลาตั้งแต่ลิตรแรกที่เติม การติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และการตั้งเวลาเพื่อปรับความสว่างของจอแอลอีดี (LED) อัตโนมัติ เพื่อช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในสถานีบริการฯ รวมถึงการรองรับการจ่ายเงินได้ทุกประเภท ทั้งเงินสด บัตรเดบิต บัตรเครดิต กระเป๋าเงินอิเลคทรอนิกส์ (e-Wallet) และไดนามิคคิวอาร์โค้ด (Dynamic QR Code) เป็นต้น ซึ่งจากนวัตกรรมต่าง ๆ ที่นำมาใช้ที่สถานีบริการฯ นี้ สามารถลดเวลาจอดรอได้สูงสุด 43% และ ลดเวลาการให้บริการสูงสุด 41% เมื่อเทียบกับสถานีบริการฯ รูปแบบเดิม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะและชุมชนตามแนวคิด ลีฟวิ่ง คอมมิวนิตี้ (Living Community)