พิษโควิด-19 ทำอุปสงค์น้ำมันลดฮวบ ซัพพลายล้น ราคาน้ำมันดิบWTI ดิ่งติดลบ เป็นประวัติการณ์

2066
- Advertisment-

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน ไทยออยล์ เผยน้ำมันดิบ WTI วานนี้ปรับลดลง 55.90 เหรียญสหรัฐ ปิดติดลบ 37.63 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังนักลงทุนเทขายก่อนสิ้นสุดสัญญาส่งมอบน้ำมันเดือนพ.ค.2563 ในวันที่ 21 เม.ย.2563 รวมทั้งปัญหาCOVID-19 ส่งผลความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯลดต่ำ เกิดปัญหาน้ำมันล้นคลังต้องเร่งระบาย ด้านนักวิชาการพลังงานชี้ราคาน้ำมันดิบร่วงหนักเป็นความผันผวนแค่ช่วงสิ้นสุดสัญญาส่งมอบน้ำมัน คาดวันที่ 22 เม.ย.2563 ซึ่งเป็นวันเริ่มสัญญาส่งมอบเดือน มิ.ย. ก็จะเห็นราคาน้ำมัน WTI ปรับตัวขึ้นมา ส่วนราคาน้ำมันขายปลีกในไทยต้องรอดูเย็นนี้ว่าจะได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันโลกที่ลดลงในครั้งนี้อย่างไร

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) รายงานราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส( WTI) ปิดเมื่อ 20 เม.ย.2563 ปรับลดลง 55.90 เหรียญสหรัฐ มาที่ -37.63 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล, น้ำมันดิบเบรนท์ ลดลง 2.51 เหรียญสหรัฐ  มาอยู่ที่ 25.57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ ดูไบ เพิ่มขึ้น 0.17 เหรียญสหรัฐ มาที่ 20.95 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ทั้งนี้ราคาน้ำมันดิบ WTI ลดลงติดลบเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ หลังได้รับแรงกดดันจากการเทขายทำกำไรของนักลงทุนก่อนที่สัญญาเดือน พ.ค.2563 จะสิ้นสุดในวันที่ 21 เม.ย.2563 และความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐ ปรับตัวลดลงมากจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ตลาดกังวลว่าปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐ จะเต็มในเร็ว ๆ  นี้ ซึ่งอาจทำให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบต้องจ่ายเงินเพื่อระบายน้ำมันดิบแทน ขณะที่ซาอุดีอาระเบีย เตรียมเสนอให้กลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตรเริ่มปรับลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงการปรับลดกำลังการผลิตเลย จากกำหนดที่จะเริ่มในเดือน พ.ค.2563

- Advertisment -

สำหรับราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ ปิดเมื่อ 20 เม.ย.2563  เบนซิน ออกเทน 95 อยู่ที่ 23.20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.54 เหรียญสหรัฐ และน้ำมันดีเซล อยู่ที่ 30.47 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 0.55 เหรียญสหรัฐ

นายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวว่า สัญญาน้ำมันดิบ WTI ตลาดนิวยอร์กส่งมอบเดือน พ.ค. 2563 ร่วงลง 55.90 เหรียญสหรัฐ หรือ 306% ปิดที่ -37.63 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์นั้น เป็นเฉพาะเหตุการณ์ในสหรัฐเท่านั้น โดยสถานการณ์ราคาน้ำมันที่เห็นนี้เป็นเพียงความผันผวนช่วงเปลี่ยนสัญญา เนื่องจากราคาน้ำมันดิบ WTI สัญญาส่งมอบเดือน พ.ค.จะหมดอายุลงในวันที่ 21 เม.ย.2563 ทำให้คนที่ถือครองสัญญานี้ไว้ต้องรับน้ำมันจริง และผู้ที่หวังเก็งกำไรแต่ไม่ต้องการรับน้ำมันจริง ต้องขายสัญญาออกมาก่อนที่จะหมดอายุ

ขณะที่สหรัฐมีภาวะน้ำมันล้นตลาด(โอเวอร์ซัพพลาย)และไม่มีถังเก็บน้ำมัน เพราะใช้เก็บน้ำมันเกือบเต็มทั้งหมดแล้ว รวมทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐลดลง 20-30%

“น้ำมันที่ขายออกมาวันนี้ก็ไม่ค่อยมีคนซื้อ คนที่มาขายในวันสุดท้ายจำเป็นต้องขายในราคาถูก แล้วพอไม่มีคนซื้อ ราคาติดลบก็ยอมขาย คือขายก็ต้องแถมเงินให้ด้วยเพื่อที่คนซื้อจะได้มีค่าขนส่งและจ่ายค่าที่เก็บน้ำมัน เพราะถ้าเขาไม่ขายก็ต้องรับน้ำมัน เขาคล้าย ๆ คนเล่นหุ้น แต่ไม่ได้ต้องการหุ้น เขาเป็นคนซื้อขายน้ำมัน แต่ไม่ต้องการน้ำมัน ฉะนั้น มารอจนถึงวันสุดท้าย เท่าไหร่ก็ต้องขาย”นายมนูญ กล่าว

ส่วนทิศทางราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศไทยนั้น ต้องรอดูทิศทางราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ตลาดสิงคโปร์ที่จะปิดในช่วงเย็นวันที่ 21 เม.ย.2563 นี้ว่าจะสะท้อนราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับลดลงอย่างไร

นายมนูญ มองว่าราคาน้ำมันดิบในสหรัฐจะมีความผันผวนเฉพาะในช่วง 1-2 วันนี้เท่านั้น เพราะเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2563 ซึ่งเป็นวันเริ่มสัญญาส่งมอบเดือน มิ.ย. ก็จะเห็นราคาน้ำมัน WTI ปรับตัวขึ้นมา เพราะราคาสัญญาส่งมอบเดือน มิ.ย.2563 ยังอยู่ที่ 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล โดยราคาดังกล่าวเกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐเท่านั้น ไม่ได้สะท้อนมาที่ตลาดน้ำมันดูไบ ดังนั้น ราคาน้ำมันเบรนท์ และดูไบ ยังอยู่ในระดับกว่า 20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

ด้านภาพรวมทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 น่าจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อไปบริเวณ 25-30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพราะการผลิตน้ำมันภาพรวมไม่ได้ลดลงมาก แต่การที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) และผู้ผลิตในกลุ่ม G20 จะลดกำลังการผลิตน้ำมันรวมกันประมาณ 19.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็น่าจะทำให้ราคาน้ำมันไม่ได้ปรับลดลงไปมาก ขณะที่ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ของทั่วโลกว่าจะดีขึ้นมากน้อยเพียงใดด้วย

Advertisment