พาณิชย์ แจงมาตรการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ ของกฟผ.เพื่อผลิตไฟฟ้า 1.6 แสนตัน โปร่งใส

841
- Advertisment-

รัฐมนตรีพาณิชย์ แจงกระบวนการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ 1.6 แสนตัน ให้ กฟผ. นำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า มีความโปร่งใส ไม่มีการเอื้อประโยชน์เอกชนรายใด โดยมีคณะทำงานฯ ในระดับภูมิภาคกำกับดูแลการจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้เป็นไปตามเงื่อนไข โดย ณปัจจุบัน กฟผ. สามารถรับมอบน้ำมันปาล์มดิบแล้ว 6.8 หมื่นตัน คงเหลืออีก 9.2 หมื่นตัน  ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปยังท่าเรือโรงไฟฟ้าบางปะกง และการจัดเก็บรอในคลัง เป็นหน้าที่ผู้ขายน้ำมันปาล์มดิบรับผิดชอบทั้งหมด    

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงมาตรการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 160,000 ตัน เพื่อให้การไฟฟ้าฝายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นำไปผลิตกระแสไฟฟ้า และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะรับซื้อ 100,000 ตัน เพื่อผลิตไบโอดีเซล โดยยืนยันว่ากระบวนการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบมีความถูกต้อง โปร่งใส เกษตรกรได้รับประโยชน์แท้จริง ไม่มีการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่ง อย่างแน่นอน

สำหรับมาตรการรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ 160,000 ตัน เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงพลังงาน ร่วมกันจัดหาน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. เพื่อนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง และคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ยังแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารและกำกับดูแลมาตรการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ (เฉพาะกิจ) ทำหน้าที่ขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าว รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะทำงานกำกับดูแลการจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อทำหน้าที่คัดเลือกผู้มีสิทธิจำหน่ายน้ำมันปาล์มดิบให้แก่ กฟผ. และกำกับดูแลการดำเนินการในระดับพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์ ซึ่ง กฟผ. จะรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบ กิโลกรัมละ 18 บาท ณ ท่าเทียบเรือโรงไฟฟ้าบางปะกง

- Advertisment -

พร้อมกันนี้ ยังได้กำหนดให้ผู้ขายน้ำมันปาล์มดิบ เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดและต้องรับซื้อผลปาล์มน้ำมันจากเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ที่ราคากิโลกรัมละ 3.20 บาท ซึ่งสูงกว่าราคาตลาด โดยมีคณะทำงานฯ ระดับภาคเป็นผู้ติดตามกำกับดูแลการดำเนินการตามเงื่อนไขดังกล่าว หากพบว่าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข กฟผ. จะไม่จ่ายเงินค่าน้ำมันปาล์มดิบ 10% ของค่าน้ำมันปาล์มดิบที่ส่งมอบ

อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้จะมีผลต่อเกษตรกรที่ขายผลปาล์มน้ำมันให้กับโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น ซึ่งในระยะแรกมีโรงงานสกัดฯ สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการน้อยราย จึงต้องขยายเวลารับสมัครถึง 5 ครั้ง จนถึงเดือนมีนาคม 2562 เนื่องจาก กฟผ. สามารถรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบได้เพียงวันละ 2,000 ตัน และรับได้เพียงวันเว้นวัน ประกอบกับ ยังมีน้ำมันในสต็อกของโรงสกัดฯ และปริมาณผลปาล์มน้ำมันที่ออกมากกว่าปกติ ส่งผลให้ราคาตลาดยังไม่ปรับเพิ่มขึ้น

ทำให้กระทรวงพาณิชย์ เสนอที่ประชุม กนป. เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2562 ให้ กฟผ. เพิ่มอัตราการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตไฟฟ้าจากเดิมวันละ 1,000 ตัน เป็นวันละ 1,500 ตัน และให้ กฟผ. รับมอบน้ำมันปาล์มดิบตามสัญญาซื้อขายน้ำมันปาล์มดิบส่วนที่เหลือทั้งหมดจัดเก็บที่คลังรับฝาก จ.สุราษฎร์ธานีและฉะเชิงเทรา จากกำหนดเดิมในเดือนกรกฎาคม ให้แล้วเสร็จภายใน 20 เมษายนนี้ เพื่อช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินออกไปให้เร็วที่สุด และยกระดับราคาผลปาล์มน้ำมันให้สูงขึ้น โดยปัจจุบัน กฟผ. ได้รับมอบน้ำมันปาล์มดิบแล้ว 68,000 ตัน คงเหลืออีก 92,000 ตัน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการขนส่งไปยังท่าเรือโรงไฟฟ้าบางปะกง และการจัดเก็บรอในคลังนั้น ผู้ขายน้ำมันปาล์มดิบจะเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด

สำหรับผู้ทำหน้าที่ขนส่งน้ำมันปาล์มดิบและคลังจัดเก็บที่ จ.สุราษฎร์ธานี มีจำนวน 2 ราย คือ พี.เค.มารีน อ. เมือง และโกลบอลอินเตอร์ อ. ดอนสัก โดยกรมการค้าภายใน ได้สอบถามราคาค่าขนส่งปรากฏว่า พี.เค.มารีน เสนอราคาหลังต่อรองแล้วถูกกว่าอีกบริษัทมาก และมีความพร้อมเพราะมีเรือขนส่งจำนวนมากกว่า ซึ่งราคาที่เกษตรกรได้รับที่ 3.20 บาท คำนวณจากการหักค่าขนส่งจากราคารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบของ กฟผ. ที่กิโลกรัมละ 18 บาท

Advertisment