กระทรวงพลังงานยืนยัน มาตรการภาษี 0 บาท สำหรับ “ดีเซล B0 และน้ำมันเตาที่ใช้ผลิตไฟฟ้า” สิ้นสุด 15 ก.ย. 2566 และไม่ได้เรียกร้องให้กระทรวงการคลังต่ออายุมาตรการดังกล่าวอีก เหตุปัจจุบันราคาก๊าซฯ ถูกลง สั่งโรงไฟฟ้าหันมาใช้ก๊าซฯ แทนดีเซลและน้ำมันเตาแล้ว ย้ำไม่กระทบค่าไฟฟ้าประชาชนแน่นอน
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center- ENC) รายงานว่า ในวันที่ 15 ก.ย. 2566 เป็นวันสุดท้ายที่กรมสรรพสามิตจะงดเก็บภาษีน้ำมันดีเซล B0 (น้ำมันดีเซลที่ไม่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธ์ ) และน้ำมันเตา ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งกำหนดว่า ได้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตอัตรา 0 บาท สำหรับน้ำมันดีเซล (B0) และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค.-15 ก.ย. 2566 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจเรื่องค่าไฟฟ้า ในช่วงที่เศรษฐกิจเพิ่งเริ่มฟื้นตัว และ ราคาเชื้อเพลิงต่างๆ ในตลาดโลกยังคงผันผวน
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานไม่ได้เรียกร้องเพิ่มเติมให้กระทรวงการคลังต่ออายุมาตรการภาษี 0 บาท สำหรับดีเซล B0 และน้ำมันเตาที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดมาตรการดังกล่าวในวันที่ 15 ก.ย. 2566 ภาษีดีเซล B0 และน้ำมันเตาที่ใช้ผลิตไฟฟ้า คงจะกลับมาเก็บตามเดิม (ภาษีดีเซล B0 จะอยู่ที่ 3.44 บาทต่อลิตร และภาษีน้ำมันเตาจะอยู่ที่ 0.64 บาทต่อลิตร)
ทั้งนี้เนื่องจากกระทรวงพลังงานเห็นว่า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแทบจะไม่ได้ใช้ดีเซลและน้ำมันเตาผลิตไฟฟ้าแล้ว หลังจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลดต่ำกว่า 25 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู นับตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2 ของปี 2566 จึงหันมาผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซฯ ตามเดิม ส่วนน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาส่วนใหญ่จะใช้เพียงแค่สตาร์ทเครื่องผลิตไฟฟ้าเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นต้องขอลดภาษีดีเซล B0 และน้ำมันเตา ให้เหลือ 0 บาทอีก
โดยเมื่อย้อนไปตอนต้นปี 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานจำเป็นต้องขอให้ลดภาษีน้ำมันดีเซลB0 และน้ำมันเตา สำหรับผลิตไฟฟ้า เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวราคาก๊าซธรรมชาตินำเข้าพุ่งขึ้นสูงมาก และสูงกว่าเมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้า ดังนั้นเพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าประชาชน จึงจำเป็นต้องให้โรงไฟฟ้าหันมาใช้ดีเซลและน้ำมันเตาผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก เฉพาะโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องน้ำมันดีเซลได้ และจำเป็นต้องขอให้กระทรวงการคลังลดภาษีดีเซล B0 และน้ำมันเตาให้เป็น 0 บาทด้วย
อย่างไรก็ตามหากดีเซล B0 และน้ำมันเตาสำหรับผลิตไฟฟ้า กลับมาเก็บภาษีตามเดิม เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อค่าไฟฟ้าประชาชนแต่อย่างใด เนื่องจากในปัจจุบันแทบจะไม่มีการใช้เชื้อเพลิงดังกล่าวผลิตไฟฟ้าแล้ว