กระทรวงพลังงาน เตรียมรับมือข้อกำหนดจากกระทรวงคมนาคม หากบังคับใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) หรือ น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับเครื่องบิน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และกรมธุรกิจพลังงาน จะเข้ามาดูแลด้านกฎระเบียบการผลิตน้ำมันอากาศยานและข้อกำหนดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป ชี้ SAF เป็นทางรอดของผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (B100) ได้ หากภาครัฐเริ่มยกเลิกการชดเชยราคาเชื้อเพลิงชีวภาพในประเทศ
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานความคืบหน้าการปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน หรือ Sustainable Aviation Fuel (SAF) ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างรอให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาว่าจะบังคับใช้น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน SAF หรือ น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพสำหรับเครื่องบินหรือไม่ เนื่องจากที่ผ่านมาภาคเอกชนและโรงกลั่น มีความกังวลว่าหากในอนาคตภาครัฐไม่ชดเชยราคาไบโอดีเซล หรือ น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (B100) จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิต B100 และโรงกลั่นจนอาจต้องเลิกกิจการได้
ดังนั้นภาคเอกชนจึงเห็นว่าทางรอดของธุรกิจนี้คือ ภาครัฐควรกำหนดให้เปลี่ยนน้ำมันอากาศยานจากน้ำมันฟอสซิล เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพแทน ซึ่งหมายความว่า เครื่องบินทุกลำจะหันมาใช้น้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพแทนน้ำมันจากฟอสซิลทั้งหมด ซึ่งนอกจากจะช่วยเกษตรกรแล้ว ยังช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบินลงได้ด้วย โดยเฉพาะเมื่ออุตสาหกรรมการบินวางแผนจะก้าวเข้าสู่เป้าหมาย Net Zero ในปี ค.ศ. 2050
อย่างไรก็ตามหากกระทรวงคมนาคมกำหนดการผสมน้ำมันแบบใหม่เป็นน้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืนแล้ว กระทรวงพลังงานก็ต้องดำเนินการต่อด้วยการมอบหมายให้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และกรมธุรกิจพลังงาน เตรียมความพร้อมออกข้อกำหนดด้านการผลิตน้ำมันอากาศยานใหม่ และพิจารณาความเหมาะสมของวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวภาพให้เพียงพอ เป็นต้น แต่ปัจจุบันทางกระทรวงคมนาคมยังไม่ได้ประกาศใช้ SAF ดังกล่าว และคงต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป
ทั้งนี้กรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับมาตรการยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย เนื่องจากหากหมดอายุการขอขยายเวลามาตรการ “ยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ” จะส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ ปรับขึ้นลงตามราคาตลาดโลก เพราะรัฐไม่ชดเชยราคาอีกต่อไป อาจทำให้ยอดใช้เอทานอล และ B100 ลดต่ำลง จนกระทบต่อธุรกิจการกลั่นได้ ดังนั้นภาคเอกชนจึงต้องการให้เปลี่ยนจากน้ำมันเครื่องบินที่เป็นฟอสซิลมาใช้ “น้ำมันอากาศยานแบบยั่งยืน” แทน
สำหรับ SAF เป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำรุ่นใหม่ เพื่อทดแทนเชื้อเพลิงอากาศยานที่เป็นฟอสซิลในปัจจุบัน สามารถผลิตได้จากขยะหมุนเวียน หรือวัตถุดิบที่เหลือใช้ เช่น ไขมันสัตว์ที่ใช้แล้ว และน้ำมันปรุงอาหารจากร้านอาหาร รวมถึงน้ำมันปาล์ม เอทานอล หรือเรียกอีกอย่างว่าเชื้อเพลิงการบินชีวภาพ (bio-jet fuels) การใช้ SAF จะสามารถลดการปลดปล่อยคาร์บอนได้มากถึง 80% เมื่อเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงการบินแบบดั้งเดิม โดยสายการบินรายใหญ่หลายเจ้าได้วางแผนที่จะเปลี่ยนมาใช้ SAF บ้างแล้ว