พลังงาน สนพ. กฟผ. ปตท. แถลงพร้อมรับมือพีคไฟฟ้าช่วงหน้าร้อน

728
- Advertisment-

กระทรวงพลังงาน  สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ ปตท.แถลงข่าวความพร้อมรับมือพีคไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นช่วงปลายเดือนเมษายน – ต้นเดือนพฤษภาคม 2562 นี้ ซึ่งคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 35,889 เมกะวัตต์ โตขึ้นจากปี2561 ประมาณ 4.6% พร้อมขอความร่วมมือประชาชน เอกชน และภาคอุตสาหกรรม ช่วยกันประหยัดไฟฟ้าด้วยมาตรการ 4 ป. “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน” ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

สราวุธ แก้วตาทิพย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน

นาย สราวุธ แก้วตาทิพย์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (พีค) จะเกิดขึ้นระหว่างปลายเดือนเมษายน – ต้นเดือนพฤษภาคม 2562 อยู่ที่ 35,889 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 จากปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 34,317 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2561 เวลา 13.51 น. ณ อุณหภูมิ 33 องศาเซลเซียส

โดยพีคไฟฟ้าที่เกิดขึ้น มีปัจจัยสำคัญมาจากอุณหภูมิช่วงหน้าร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ประมาณ42-43 องศาเซลเซียส ตามการ คาดการณ์ ของกรมอุตุนิยมวิทยา  ซึ่งทุกอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลดลง 1 องศาเซลเซียสจะมีผลต่อการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นประมาณ 400 เมกะวัตต์

- Advertisment -
วัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)

ด้านนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า สนพ.ได้จัดเตรียมมาตรการ 4 ป. “ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน”เพื่อสร้างความตระหนักในการประหยัดพลังงาน โดยขอความร่วมมือจากภาคประชาชน เอกชน และอุตสาหกรรม ให้ช่วยกันลดใช้ไฟฟ้าอย่างจริงจัง  ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เพื่อช่วยลดปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศ (พีค) ไม่ให้สูงขึ้นจนทำสถิติรอบใหม่ อันจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

สำหรับมาตรการ 4 ป. เป็นมาตรการที่ทุกคนสามารถทำได้ทันที ได้แก่ ปิดอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศเป็น 26 องศา ซึ่งการเพิ่ม 1 องศาจะช่วยประหยัดไฟเพิ่มได้ 10% ปลดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อเลิกใช้ เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 แบบใหม่ ที่มี 1 – 3 ดาว โดยแต่ละดาวจะมีประสิทธิภาพการประหยัดไฟฟ้าได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10% และเปลี่ยนเวลาที่ใช้ไฟฟ้า คือ หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นใน 2 ช่วงเวลา คือ 13.00 – 15.00 น. เพื่อลดพีคไฟฟ้าช่วงกลางวัน และ 19.00 –21.00 น. เพื่อลดพีคไฟฟ้าช่วงกลางคืน”

จรรยง วงศ์จันทร์พงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการควบคุมระบบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)

นายจรรยง วงศ์จันทร์พงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการปฏิบัติการควบคุมระบบ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า ในส่วนการเตรียมความพร้อมของระบบผลิตไฟฟ้า กฟผ.ได้มีการบริหารจัดการโรงไฟฟ้าในระบบทั้งโรงไฟฟ้าของ กฟผ. โรงไฟฟ้า IPP และ SPP ให้มีการบำรุงรักษาเท่าที่จำเป็น และขอความร่วมมืองดบำรุงรักษานอกแผนที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนตลอดช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนมีนาคมถึง พฤษภาคม ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ซึ่งในช่วงฤดูร้อนปีนี้ มั่นใจว่าจะมีกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่ายเพียงพอสำหรับรองรับเหตุการณ์ฉุกเฉินซ้ำซ้อนที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งได้ประสานงานกับ ปตท. ในการเพิ่มความสามารถในการส่งเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ ให้มีความเพียงพอต่อความต้องการใช้ผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

วุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน)

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ได้มีการจัดเตรียมความพร้อมด้านเชื้อเพลิงโดยเฉพาะในส่วนของก๊าซธรรมชาติ และก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ให้เพียงพอสำหรับกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนที่มีการคาดการณ์ว่าจะเกิดพีคไฟฟ้า  รวมถึงกรณีที่จะมีการหยุดจ่ายก๊าซฯแหล่งยาดานาเพื่อซ่อมบำรุงอุปกรณ์ ช่วงวันที่11-17เม.ย.2562นี้ด้วย   ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงพลังงานของประเทศ

Advertisment