“พลังงาน” ตั้งทีมกฎหมายและอนุญาโตตุลาการฝ่ายไทยสู้คดี หลังถูก เชฟรอน ยื่นฟ้องกรณีค่าใช้จ่ายการรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ หลังสิ้นสุดสัมปทาน

1824
- Advertisment-

เชฟรอนเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการฟ้องรัฐไทย ในประเด็นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ หลังการเจรจาในกรอบเวลา 180 วันไม่บรรลุผล โดยกระทรวงพลังงานตั้งทีมกฎหมาย และทีมอนุญาโตตุลาการฝ่ายไทย สู้คดี โดยเตรียมวงเงินงบประมาณที่ครม.เห็นชอบไว้พร้อมกว่า 450 ล้านบาท สำหรับดำเนินการ  พร้อมเปิดช่องเจรจาหาข้อยุติ ในขณะที่เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ออกเอกสารคำชี้แจงถึงเหตุผลในการเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง ระบุ เพื่อให้ได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะส่งมอบให้กับรัฐบาลภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานคณะกรรมการปิโตรเลียม ตอบคำถามผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 2 ต.ค.2563 ถึงกรณีที่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มีหนังสือถึงกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติว่าทางบริษัทเชฟรอน ที่สหรัฐอเมริกาได้เข้าสู่กระบวนการ อนุญาโตตุลาการ ยื่นฟ้องรัฐไทยในประเด็นเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียม ที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ให้ทางเชฟรอนต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ตามกฎหมายของไทย ว่า  กระทรวงพลังงานได้มีการตั้งคณะทำงาน ทีมกฏหมายทั้งในและต่างประเทศ และทีมอนุญาโตตุลาการฝ่ายไทยไว้สู้คดีดังกล่าวพร้อมแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดเกี่ยวกับประเด็นที่ทางเชฟรอนยื่นฟ้องได้ เนื่องจากจะมีผลต่อรูปคดี  แต่ยังเปิดทางที่จะให้มีการเจรจาระหว่างกันเพื่อหาข้อยุติ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนต.ค 2562 ทางเชฟรอน  สหรัฐอเมริกาได้ระงับกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่จะยื่นฟ้องต่อรัฐไทยเอาไว้ชั่วคราว เพื่อให้มีการเจรจาหาข้อยุติระหว่างกันภายใน 180 วัน หรือภายใน มี.ค. 2563  ตามที่ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในสมัยนั้นร้องขอ  แต่การเจรจาดังกล่าวไม่เป็นผลเนื่องจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยังยืนยันที่จะให้เชฟรอนวางหลักประกันที่จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมทั้งหมด ทั้งในส่วนที่รัฐรับโอนเพื่อใช้ประโยชน์ จำนวน 142 แท่น และส่วนที่รัฐไม่ได้รับโอนอีก 49 แท่น  ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวง เรื่องกำหนดแผนงาน ประมาณการค่าใช้จ่ายและหลักประกันในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมพ.ศ. 2559  ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม   ในขณะที่ทางเชฟรอน พร้อมที่จะรับภาระค่าใช้จ่ายการรื้อถอนเฉพาะ 49 แท่นที่รัฐไม่ได้รับโอนเท่านั้น

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่าย เห็นร่วมกันว่าการดำเนินการในกระบวนการอนุญาโตตุลาการครั้งนี้ จะไม่กระทบต่อการส่งมอบพื้นที่ให้รายใหม่ คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ที่จะเข้ามาดำเนินกิจการหลังหมดอายุสัมปทานในเดือนเม.ย.2565  เพื่อให้การผลิตก๊าซเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้รับ การอนุมัติวงเงินในการต่อสู้คดีครั้งนี้จากคณะรัฐมนตรีแล้ว กว่า 450 ล้านบาท

ด้าน บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ออกเอกสารคำชี้แจงในเรื่องเกี่ยวกับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในการประกอบกิจการปิโตรเลียม เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2563 โดยมีเนื้อหาว่า เชฟรอนประเทศไทย (บริษัทฯ) ได้ทำงานร่วมกันกับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมการส่งมอบสิ่งติดตั้งที่ยังใช้ประโยชน์ได้ในแหล่งเอราวัณให้รัฐบาลอย่างปลอดภัยหลังจากสัมปทานสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ ข้อตกลงในสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมได้ระบุไว้ว่าผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะมิได้ส่งมอบให้แก่รัฐบาลแต่เพียงเท่านั้น ซึ่งเชฟรอนมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามข้อผูกพันดังกล่าว

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง เพื่อให้ได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะส่งมอบให้กับรัฐบาลภายหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง

ที่ผ่านมา เชฟรอนประเทศไทยได้เริ่มดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในแหล่งเอราวัณที่จะมิได้ส่งมอบให้แก่รัฐบาลในปีพ.ศ.2565 ภายใต้ข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทานปิโตรเลียม และบริษัทจะยังคงมุ่งมั่นในภารกิจจัดหาพลังงานอย่างรับผิดชอบและปลอดภัย เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในระยะยาวของประเทศอย่างต่อเนื่องต่อไป ดังที่ได้ปฏิบัติมาแล้วกว่า 5 ทศวรรษ

Advertisment