กระทรวงพลังงาน วาง 3 แนวทางรองรับเอทานอลที่เหลือในอนาคต หลังเดินหน้า Oil Plan 2024 ปรับลดน้ำมันกลุ่มเบนซินเหลือ 2 ชนิด คือน้ำมันพื้นฐาน และน้ำมันทางเลือก โดยเตรียมดึงเอทานอลที่เหลือไปใช้ในเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF),นำเอทานอลไปใช้ใน ไบโอ-เอทิลีน และใช้เอทานอลในเกรดอุตสาหกรรม ซึ่งกรมสรรพสามิตจะต้องปลดล็อคให้สามารถผลิตเอทานอลได้โดยเสรี ปี 2568
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า จากกรณีที่ พ.ร.บ. กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ภายในวันที่ 24 ก.ย. 2567 (ยังเหลือสิทธิ์ขอขยายเวลาออกไปได้อีก 1 ครั้ง เป็นเวลา 2 ปี โดยจะไปสิ้นสุดวันที่ 24 ก.ย. 2569 แทน) ซึ่งเท่ากับกองทุนฯ จะไม่สามารถเข้าไปพยุงราคาน้ำมันในประเทศได้ เนื่องจากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันกลุ่มดีเซลในประเทศไทยล้วนแต่มีส่วนผสมของพืชพลังงาน เช่น เอทานอลและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ทั้งสิ้น จึงนับเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งหมด
ดังนั้นเมื่อครบกำหนดที่ต้องทำตาม “มาตรการยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ” จะทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ฉะนั้นก่อนถึงระยะเวลาดังกล่าวทางกระทรวงพลังงานจึงได้ใช้มาตรการลดชนิดน้ำมันที่จำหน่ายในประเทศลงก่อน โดยปัจจุบันไทยจำหน่ายน้ำมันกลุ่มเบนซินถึง 5 ชนิด และดีเซล 2 ชนิด ซึ่งการลดชนิดน้ำมันดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อผู้ผลิตเอทานอลและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ในอนาคตอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม (ร่าง) “แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567-2580 (Oil Plan 2024) ได้กำหนดทิศทางการบริหารจัดการเอทานอลของประเทศไทยในอนาคตไว้ดังนี้ กระทรวงพลังงานจะกำหนดชนิดน้ำมันกลุ่มเบนซินให้เหลือเพียง 2 ชนิด คือ น้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ และน้ำมันทางเลือก (ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินใจว่าระหว่าง น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 หรือ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 จะเลือกชนิดใดเป็นน้ำมันพื้นฐาน) ซึ่งจะส่งผลต่อปริมาณเอทานอลในประเทศโดยตรง
ปัจจุบันไทยใช้เอทานอล 3.54 ล้านลิตรต่อวัน ดังนี้ 1.หากกำหนดให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ทิศทางการใช้เอทานอลจะพุ่งขึ้นถึง 4.72 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2570 จากนั้นจะค่อยๆ ลดลงในปี 2575 เหลือ 4.42 ล้านลิตรต่อวัน และเหลือ 3.25 ล้านลิตรต่อวัน ในปี 2580 เนื่องจากทิศทางการใช้น้ำมันทั่วโลกรวมถึงไทยจะปรับลดลง ตามทิศทางการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แต่ข้อดีคือทิศทางการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Co2) จะลดลงได้เร็วกว่า โดยปัจจุบันมีการปล่อยคาร์บอนฯ อยู่ 21.6 ล้านตันต่อปี จะลดลงเหลือ 11.13 ล้านตันต่อปี ในปี 2580
2. หากกำหนดให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 E10 เป็นน้ำมันพื้นฐาน ทิศทางการใช้เอทานอลจะลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว (เนื่องจากน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 เป็นน้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอลเพียง 10% ในทุกลิตร ขณะที่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 ผสมเอทานอลถึง 20% ในทุกลิตร) โดยยอดใช้เอทานอลจากปัจจุบันที่ 3.54 ล้านลิตรต่อวัน จะลดลงในปี 2570 เหลือ 2.73 ล้านลิตรต่อวัน จากนั้นในปี 2575 จะลดเหลือ 2.37 ล้านลิตรต่อวัน จนปลายแผนปี 2580 จะเหลือการใช้เอทานอลเพียง 1.55 ล้านลิตรต่อวัน ขณะที่การลดปล่อย Co2 จาก 21.6 ล้านตันต่อปี จะเหลือ 12.25 ล้านตันต่อปี ในปี 2580
ดังนั้นจากการคาดการณ์การใช้เอทานอลในอนาคตดังกล่าว ทำให้กระทรวงพลังงานได้ระบุในแผน Oil Plan 2024 ว่าไทยจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมเอทานอลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันระยะยาว แบ่งเป็น 1.การใช้เอทานอลในเกรดอุตสาหกรรม ซึ่งกรมสรรพสามิตจะต้องปลดล็อคให้สามารถผลิตเอทานอลได้โดยเสรีในปี 2568
2.นำเอทานอลไปใช้ในเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ด้วยเทคโนโลยี AtJ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตและพร้อมใช้ตั้งแต่ปี 2573 โดยเป้าหมายสัดส่วนผสมเอทานอลใน SAF เป็นดังนี้ ปี 2573-2575 จะผสม 3% ต่อมาปี 2576-2578 จะผสมเพิ่มเป็น 5% และปี 2579 เป็นต้นไปจะผสม 8%
และ 3. นำเอทานอลไปใช้ใน ไบโอ-เอทิลีน (Bio ethylene) เป็นกำลังการผลิตสูงสุดของโครงการ New Green Ethylene Plant SCG ร่วมกับ Braskem
โดยแนวทางดังกล่าวตั้งอยู่บนสมมติฐานว่าโรงงานเอทานอลจำนวน 28 โรง มีกำลังการผลิตรวม 6.6 ล้านลิตรต่อวัน จะไม่มีการขยายกำลังการผลิตเพิ่ม
ส่วนน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ผสมในน้ำมันดีเซลนั้น ทางกระทรวงพลังงานกำลังหาทางส่งเสริมให้ปรับเปลี่ยนไปใช้ในภาคการบริโภคและเพิ่มมูลค่าเป็นน้ำมันนวดตัว และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เป็นต้น โดยปัจจุบันกลุ่มน้ำมันดีเซลได้ปรับลดชนิดลงเหลือเพียง 2 ชนิดแล้ว คือ น้ำมันไบโอดีเซล B7 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศ โดยให้มีการผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ระหว่าง 6.6-7% ในทุกลิตร และให้น้ำมันไบโอดีเซล B20 เป็นน้ำมันทางเลือก ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา