พลังงานแจง 4 มรสุมวิกฤติโลกดันค่าไฟฟ้าแพง ตลอด 3 ปี ภาครัฐทุ่มกว่า 2 แสนล้านพยุงราคาพลังงานดูแลประชาชน พร้อมปรับแผนแก้ปัญหา เร่งผลิตก๊าซแหล่งเอราวัณให้เร็วขึ้น คาด พ.ค. 2566 กำลังการผลิตจะเพิ่มเป็น 400 จากปัจจุบันที่ผลิตได้ 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน พร้อมปรับโรงไฟฟ้าใช้น้ำมันแทน LNG รวมถึงเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวต้นทุนต่ำ หวังช่วยกดราคาค่าไฟฟ้าให้ลดลงในปี 2566 แนะทุกภาคส่วนช่วยประหยัดไฟฟ้าเพียง 5-10% ก็ช่วยลดการซื้อ LNG ได้หลายหมื่นล้านบาท
หลังจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 แบ่งเป็น 2 อัตรา ได้แก่ บ้านเรือน ได้รับค่า Ft ที่ถูกกว่าอยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้ารวม 4.72 บาทต่อหน่วย และภาคอุตสาหกรรม ค่า Ft อยู่ที่ 154.92 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้าโดยรวม 5.33 บาทต่อหน่วย การปรับค่า Ft เป็นสองอัตรา นับเป็นครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย เนื่องจากมีปัจจัยสำคัญหลายด้านที่ส่งผลกระทบพร้อมกันจนกลายเป็นวิกฤตพลังงาน
ศาสตราจารย์ ดร. พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับราคาค่าไฟฟ้าของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยสรุปสาเหตุหลักมาจาก 4 มรสุมพายุลูกใหญ่ที่ถาโถมในแบบ Perfect storm ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงในครั้งนี้ ได้แก่
1.สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ (Geo-politics) ครั้งสำคัญของโลก ได้ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โลกพุ่งสูงขึ้นถึง 30 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู จากอดีตเคยอยู่ระดับ 10 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ซึ่งไทยใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้าถึง 60% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด ย่อมส่งผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าโดยปริยาย
2. สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ไม่มีใครคาดคิด ส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของประเทศสูงขึ้น 36% จากอดีตเคยอยู่ระดับ 15% ของปริมาณไฟฟ้าที่พึ่งพาได้ทั้งหมด (Dependable capacity) เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำจากผลพวงของโควิด-19 ส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว การผลิตไฟฟ้าที่สูงเกินปริมาณความต้องการใช้ย่อมเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าเป็นเหตุการณ์ที่กระทบไปทั่วโลกและอยู่เหนือการคาดการณ์ใดๆ สำหรับกรณีนี้
- การเปลี่ยนแปลงด้านราคาพลังงานยังได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน และสถานการณ์เศรษฐกิจโลก นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ผลักดันต้นทุนราคาเชื้อเพลิงและพลังงานที่ผลิตให้มีราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย ย่อมส่งผลต่อค่าไฟฟ้าทั้งในภาคครัวเรือน รวมถึงภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ ซึ่งมีการใช้ไฟฟ้าถึง 75% ของประเทศ ให้มีต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้นด้วย
และ 4. เรื่องสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา ประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติผลิตไฟฟ้ากว่า 60% (ใช้ถ่านหินประมาณ 15%) โดยคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ นอกจากนี้ เหตุที่ทั่วโลกมีนโยบายด้านความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทั่วโลกรวมถึงไทยต้องหันมาผลิตไฟฟ้าจากการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ซึ่งของคุณภาพดี มักสัมพันธ์กับราคาต้นทุนที่สูงขึ้นเป็นธรรมดา (ราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะ LNG นำเข้า ส่งผลให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าสูงกว่าการใช้ถ่านหินกว่า 3-5 เท่าตัว)
ทั้ง 4 ปัจจัยดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย หากเปรียบเทียบระหว่างไทยกับต่างประเทศ จะพบว่าในยุโรปค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้นถึง 4-8 เท่า หรือเพิ่มขึ้นถึง 400-1,000% และบางประเทศก็ปล่อยลอยตัวค่าไฟฟ้า ขณะที่ประเทศไทยราคาค่าไฟฟ้าปรับขึ้นประมาณ 30% และรัฐบาลไทยก็พยายามพยุงราคาค่าไฟฟ้าไว้ ไม่ปล่อยให้ขึ้นไปจนประชาชนแบกรับภาระไม่ไหว โดยตลอด 3 ปี (พ.ศ. 2563-2565) ภาครัฐใช้เงินดูแลราคาพลังงานให้ประชาชนรวมแล้วถึง 242,200 ล้านบาท แบ่งเป็นดูแลราคาน้ำมัน 97,377 ล้านบาท, ดูแลราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) 36,875 ล้านบาท, ดูแลราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) 6,913 ล้านบาท และดูแลค่าไฟฟ้าถึง 101,035 ล้านบาท
สิ่งสำคัญที่ภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานได้พยายามทำมาตลอดปี 2565 หลายมิติเพื่อพยุงราคาค่าไฟฟ้าให้ประชาชน ได้แก่ 1.การเร่งกำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย โดยเฉพาะในแหล่งเอราวัณให้ฟื้นกลับมาเต็มกำลังการผลิตโดยเร็ว จากอดีตแหล่งเอราวัณผลิตก๊าซฯ ได้ถึง 1,000 ล้านลูกบาศ์ฟุตต่อวัน ปัจจุบันเหลือเพียง 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือลดลงไปถึง 5 เท่า นับเป็นความโชคไม่ดีที่เกิดขึ้นจากการต้องเปลี่ยนผ่านผู้ผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณเนื่องจากหมดอายุสัมปทานในเดือน เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ผู้ผลิตปิโตรเลียมรายใหม่กำลังเร่งขุดเจาะก๊าซฯ เพิ่มขึ้นคาดว่าในเดือน พ.ค. 2566 กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นได้เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อช่วยลดการนำเข้า LNG ที่มีราคาแพงถึง 1,200 บาทต่อล้านบีทียูได้ ขณะที่ก๊าซฯ ในอ่าวไทยของเราราคาอยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อล้านบีทียู
2.นำน้ำมันมาใช้ผลิตไฟฟ้าทดแทน LNG โดยหลังจากที่ไทยต้องเผชิญกับปัญหาการนำเข้า LNG เพื่อทดแทนก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่ลดน้อยลง และนำเข้าในช่วงที่ราคา LNG แพงกระหน่ำ กระทรวงพลังานก็ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกแนวคิดปรับเปลี่ยนโรงไฟฟ้าบางแห่งให้ไปใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงแทนก๊าซฯ เนื่องจากที่ผ่านมาการนำน้ำมันมาใช้ผลิตไฟฟ้ามีราคาถูกกว่าก๊าซฯถึง 20%
3.การรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวโดยลดการอุดหนุนราคา การที่ทิศทางโลกมุ่งไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งไทยเองก็ได้ให้คำมั่นสัญญากับประชาคมโลกที่จะมุ่งหน้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ในปี ค.ศ.2050 หรือ พ.ศ. 2593 ดังนั้นทิศทางการผลิตไฟฟ้าของไทยในอนาคตจึงต้องเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากขึ้น โดยจากนี้ไปราคารับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะสะท้อนราคาเชื้อเพลิงตามความเป็นจริงหรือเท่ากับราคาที่ซื้อจากสายส่งไฟฟ้า (Grid parity) และลดการชดเชยราคาลงไปจนไม่มีการชดเชยราคาอีก ปัจจุบันราคาไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่เคยรับซื้ออยู่ที่ประมาณ 2 บาทกว่าต่อหน่วย ซึ่งต่อไปเทคโนโลยีใหม่ๆจะทำให้โรงไฟฟ้าสีเขียวมีราคาถูกลง ซึ่งทิศทางราคาค่าไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เป็นราคาต้นทุนแท้จริงและไม่มีการช่วยอุดหนุนราคา กำลังเริ่มขึ้นแล้วนับตั้งแต่การเปิดรับซื้อในขณะนี้และต่อไปในอนาคตด้วย
4. ภาครัฐได้เข้าไปช่วยดูแลราคาพลังงานให้ประชาชนในช่วงที่ผ่านมาเกือบทุกรูปแบบทั้งน้ำมัน, LPG ,NGV และค่าไฟฟ้ารวมกว่า 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดีจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ กฟผ.
- ประเทศไทยมีมาตรฐานการบริการไฟฟ้าที่ดีในระดับต้นๆ ของโลก เหนือกว่าหลายๆ ประเทศในภูมิภาค ผ่านการพิจารณาความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า (SAIFI และ SAIDI) ในด้านความถี่และระยะเวลาไฟฟ้าดับเฉลี่ยที่มีค่าต่ำมากๆ นับเป็นคุณภาพการบริการที่สำคัญต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า รวมถึงลดผลกระทบต่อภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมที่จะเกิดความเสียหายเป็นมูลค่าหลายล้านบาทหากเกิดปัญหาไฟฟ้าดับในช่วงการผลิตสินค้า
อย่างไรก็ตามแม้ภาครัฐจะพยายามพยุงค่าไฟฟ้าประชาชนอย่างเต็มที่แล้ว แต่ค่าไฟฟ้าก็ยังต้องปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจัยต้นทุนราคาพลังงานโลกที่พุ่งสูง ดังนั้นจำเป็นที่ภาครัฐจะต้องเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มครัวเรือนก่อน เนื่องจากเป็น End user หรือกลุ่มที่ไม่มีทางเลือกอื่น แม้ค่าไฟฟ้าแพงก็จำเป็นต้องใช้ ซึ่งแตกต่างจากภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมที่มีทางเลือกในการเลือกใช้เชื้อเพลิงอื่นๆ (ที่มีราคาต่ำกว่า LNG นำเข้า) การติดตั้งโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าทดแทน หรือการลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงเพื่อประหยัดไฟฟ้านอกจากนี้ ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นนั้น ก็อาจส่งผ่านไปยังผู้บริโภคได้อีก ดังนั้น ภาครัฐจึงต้องทำค่า Ft เป็น 2 ราคาเพื่อดูแลกลุ่มครัวเรือนก่อน ซึ่งมีประมาณ 22-23 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ คิดเป็นปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพียง 25% ของประเทศ (จริงๆ แล้ว เจ้าของกิจการภาคเอกชนก็ได้รับผลประโยชน์จากค่า Ft ในส่วนนี้ในฐานะบ้านเรือนอยู่ดี) ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนการใช้ไฟฟ้าถึง 75% ของประเทศ อย่างไรก็ตามคาดหวังว่าหลังจากก๊าซฯในแหล่งเอราวัณกลับมาผลิตเพิ่มขึ้นได้ รวมถึงสถานการณ์โลกดีขึ้น จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้ากลุ่มอุตสาหกรรมปรับลดลงได้ในอนาคต
สำหรับการลดค่าไฟฟ้านั้น หนึ่งในแนวทางที่ทุกคนและทุกภาคส่วนสามารถดำเนินการได้เลยคือ การช่วยกันบริโภคพลังงานอย่างยั่งยืน โดยหากลดการใช้ไฟฟ้าลงได้ 5-10% จะเท่ากับลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ในราคาตลาดจร (Spot LNG) ลงได้กว่า 10 ลำเรือ หรือประหยัดต้นทุนเชื้อเพลิงไฟฟ้าลงได้กว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะสะท้อนโดยตรงไปที่การคำนวณค่า Ft ต่อไป ดังนั้นภาคประชาชน ภาคเอกชนและอุตสาหกรรมสามารถมีส่วนร่วมลดค่าไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง โดยการประหยัดไฟฟ้าในกิจกรรมแต่ละวันลง ซึ่งนอกจากจะช่วยตัวเองประหยัดค่าไฟฟ้าได้แล้ว ยังช่วยประเทศชาติลดการซื้อก๊าซฯ ที่นำมาผลิตไฟฟ้าลงได้อีกส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งนับเป็นการสร้าง Resiliency หรือภูมิต้านทานด้านพลังงานของประเทศอย่างยั่งยืน
ศาสตราจารย์ ดร. พิสุทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า กระทรวงพลังงานภายใต้การนำของรองนายกฯ และรัฐมนนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เปรียบเสมือนน้ำที่ไม่เต็มแก้ว เพราะแม้จะเจอมรสุมพลังงานใดก็ตาม เราพร้อมเปิดใจเรียนรู้ พร้อมต่อยอดแนวคิดและประยุกต์ใช้นวัตกรรมใหม่ๆ นำมาใช้บริหารจัดการเพื่อลดภาระให้กับคนไทยทุกคน เพราะถ้าน้ำเต็มแก้วแล้วเราจะไม่สามารถปรับแผนรับมือกับวิกฤติ และค่าไฟฟ้าก็อาจปรับขึ้นไปถึง 3-4 เท่าก็เป็นได้ ทั้งนี้เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ราคาค่าไฟฟ้าไทยก็ยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ อีกทั้งประเทศไทยกำลังมุ่งไปสู่พลังงานสีเขียวเพื่อตอบโจทย์ด้านการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ซึ่งส่งผลให้ต่างชาติเริ่มมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนสีเขียว (Green Invesment) ที่จะมีบทบาทสำคัญมากๆ ต่อประเทศไทยมากขึ้นในอนาคตด้วย