ชี้แนวทางลดค่าไฟฟ้าทันทีตามนโยบายเศรษฐา​ รัฐต้องสั่ง กฟผ.รับคืนหนี้ช้าลงและต้องช่วยเจรจายืดเวลาจ่ายค่าเชื้อเพลิง

782
- Advertisment-

กระทรวงพลังงาน ระบุแนวทางลดค่าไฟฟ้าตามนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ 20 สตางค์ต่อหน่วย สามารถทำได้ 2 ทางคือ นำเงินภาครัฐมาอุดหนุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชนเหมือนเดิม หรือที่ง่ายกว่าคือ ภาครัฐไปหารือกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ยอมรับการคืนหนี้ช้าลงจาก 30 สตางค์ต่อหน่วย เหลือ 10 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดได้ 20 สตางค์ต่อหน่วย ชี้เป็นแนวทางที่ทำได้ง่ายสุด แต่ต้องพิจารณาฐานะการเงิน กฟผ.ว่าแบกรับภาระไหวหรือไม่

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center- ENC) รายงานว่า จากกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าเตรียมจะลดค่าไฟฟ้าลง ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้นั้น และเป็นไปตามที่ภาคอุตสาหกรรมเรียกร้องให้ลดค่าไฟฟ้าลงอีก 20 สตางค์ต่อหน่วย จากที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศเรียกเก็บค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 อยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย ก็ให้เหลือ 4.25 บาทต่อหน่วย

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน ระบุถึงเรื่องนี้ว่าสามารถดำเนินการได้ แม้จะมีการประกาศค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.2566 ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย จาก กกพ.ไปแล้วก็ตาม  โดยเบื้องต้นสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ 1. ภาครัฐจะต้องมีนโยบายสั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยอมรับการคืนหนี้ช้าลงไปอีก  ซึ่งหนี้ดังกล่าวเกิดจากที่ กฟผ.เข้าไปแบกรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนในช่วงวิกฤติราคาพลังงานตั้งแต่ ก.ย. 2564- เม.ย. 2566 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 150,268 ล้านบาท

- Advertisment -

ทั้งนี้ที่ผ่านมา กกพ. ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนเกี่ยวกับค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 และได้สรุปว่า จะเรียกเก็บค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ที่ 66.89 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย  ซึ่งอัตราดังกล่าวจะทำให้ กฟผ.ได้รับการชำระหนี้คืนแบ่งเป็น 5 งวด โดยได้รับหนี้คืน 2.3 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2566 และยังเหลือหนี้ที่ต้องชำระในปีต่อไปอีก 1.11 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามการที่ กฟผ.ได้รับการชำระหนี้คืน 2.3 หมื่นล้านบาท จะเท่ากับค่าไฟฟ้าประมาณ 30 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้นการลดค่าไฟฟ้า 20 สตางค์ต่อหน่วยของภาครัฐ สามารถทำได้ด้วยการลดการคืนหนี้ กฟผ. ลง 20 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิมจะได้รับคืน 30 สตางค์ต่อหน่วย ก็เหลือได้คืนเพียง 10 สตางค์ต่อหน่วยแทน ซึ่งวิธีการนี้จะไม่เดือดร้อนเงินของภาครัฐ แต่ก็ต้องพิจารณาฐานะการเงินของ กฟผ.ว่าจะแบกรับภาระได้มากน้อยแค่ไหนด้วย

2. การนำเงินจากงบกลางของรัฐบาล มาอุดหนุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชน เหมือนที่ผ่านมา ซึ่งอาจต้องใช้เงินหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งแนวทางนี้จะต้องให้กระทรวงพลังงานทำเรื่องของบประมาณดังกล่าว แต่ยืนยันว่าจะไม่สามารถใช้งบบริหารค่าไฟฟ้าของ กกพ.ได้ เนื่องจากปัจจุบัน กกพ.ไม่เหลือเงินเพื่อมาอุดหนุนค่าไฟฟ้าแล้ว

ดังนั้นเห็นว่าแนวทางที่ภาคการเมืองจะดำเนินการได้สะดวกที่สุดคือ การขอให้ กฟผ. รับคืนหนี้ช้าลง ซึ่งสามารถหารือกับ กฟผ. และให้ กฟผ.ได้ส่งหนังสือไปยัง กกพ. เพื่อระบุว่าจะลดค่าไฟฟ้า ด้วยการยอมแบกรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนไปก่อน  อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังเป็นเพียงแนวทางการลดค่าไฟฟ้า ซึ่งได้รับการยืนยันจาก กกพ.ว่า ยังไม่มีการยื่นหนังสือจาก กฟผ.ส่งมายัง กกพ. แต่อย่างใด รวมทั้ง กกพ.ยังไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องการลดค่าไฟฟ้าดังกล่าวด้วย

Advertisment