พลังงาน เร่งออกกฎหมาย 2 ฉบับ หวังควบคุมการปรับราคาน้ำมันอิสระ และกำหนดให้ผู้ประกอบการแจ้งต้นทุนที่แท้จริง พร้อมวางแผนสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ ด้วยการยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ แต่ให้ผู้ประกอบการส่งน้ำมันมาเก็บสำรองเป็นของรัฐแทน ชี้ปัญหาราคาพลังงานแพง เกิดจากแนวคิดที่ไม่ถูกต้องที่มุ้งเน้นไปยังผลกำไรของธุรกิจเอกชน มากกว่าความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ พร้อมยืนยันจะแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ในขณะที่ยังอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงาน
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ความมั่นคงทางพลังงานและการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอนาคต” ให้แก่ผู้อบรมหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สำหรับผู้บริหารแห่งอนาคต (วปอ.บอ.) รุ่นที่ 2 ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ระหว่างการออกกฎหมาย 2 ฉบับเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานไทย ได้แก่ 1. กฎหมายการประกอบธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิง และ 2.กฎหมายกำกับการประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งการแก้ไขเป็นเรื่องยาก เนื่องจากปัจจุบันติดปัญหาการห่วงแต่ผู้ประกอบการและไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลด้านราคาพลังงานที่แท้จริงได้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานจะต้องมุ่งเน้นไปที่ความมั่นคงด้านพลังงานเป็นหลักไม่ใช่มุ่งเน้นด้านธุรกิจเกินไป
โดยในเรื่องของความมั่นคงด้านพลังงานจะมุ่งเน้นไปที่พลังงาน 3 ชนิด คือ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และไฟฟ้า ซึ่งในส่วนของน้ำมันนั้น ปัจจุบันการปรับราคาน้ำมันของผู้ประกอบการจะเป็นอิสระ ไม่มีใครควบคุม ซึ่งเมื่อเทียบกับการจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป หากจะปรับราคาจะต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ก่อน ขณะที่น้ำมันเป็นสิ่งจำเป็นและกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก จึงควรต้องมีการควบคุมเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องออกกฎหมายการประกอบธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องแจ้งต้นทุนราคาน้ำมันด้วย
พร้อมกันนี้จะออกกฎหมายกำกับการประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งต่อไปการปรับราคาจำหน่ายต้องอยู่ภายใต้การกำกับ ไม่สามารถปรับราคาโดยอ้างการปรับเปลี่ยนราคาน้ำมันตามตลาดโลกได้ เนื่องจากกระบวนการซื้อน้ำมันมาขายเสร็จสิ้นไปตั้งแต่ 3 เดือนก่อน จะมาอ้างราคาน้ำมันโลกในปัจจุบันไม่ได้
นอกจากนี้เพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ประเทศไทยควรมีการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ได้กำหนดปริมาณสำรองน้ำมันมาตรฐานไว้ 90 วัน ที่ผ่านมาไทยยังดำเนินการไม่ได้เนื่องจากต้องใช้เงินจำนวนมาก โดยไทยใช้น้ำมันอยู่ 120 ล้านลิตรต่อวัน ถ้าจะต้องสำรอง 90 วันต้องเก็บน้ำมันกว่าหมื่นล้านลิตร
ดังนั้นแนวทางที่กระทรวงพลังงานจะดำเนินการคือ การสำรองน้ำมันโดยไม่ต้องใช้เงิน ด้วยการเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง แล้วเปลี่ยนเป็นเรียกเก็บน้ำมันจากผู้ค้าน้ำมันส่งเข้าคลังสำรองของภาครัฐแทน โดยตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เช่น จ่าย 10 บาทต่อลิตร หากเปลี่ยนเป็นน้ำมันจะได้ 12 ล้านลิตรต่อวัน หรือ 1 เดือนจะได้ 360 ล้านลิตร แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการก็ผลักภาระการจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ ให้ประชาชนแทน ดังนั้นหากใช้วิธีนี้ประชาชนก็ไม่ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ และทำให้ราคาน้ำมันจำหน่ายปลีกลดลงได้ 10 บาทต่อลิตรทันที
ส่วนในเรื่องของค่าไฟฟ้าที่อ้างว่าแพงเพราะราคาก๊าซธรรมชาติสูงขึ้นนั้น จากข้อเท็จจริงพบว่าการเฉลี่ยราคาใน Pool gas ทำให้คนไทยทั้งประเทศและโรงงานที่ไม่ใช้ก๊าซฯ ในการผลิตต้องแบกรับราคาเฉลี่ยในส่วนนี้โดยไม่เป็นธรรม ซึ่งกระทรวงพลังงานก็ต้องตรวจสอบด้วย
อย่างไรก็ตามการผลิตไฟฟ้าตามกฎหมายกำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีหน้าที่ผลิตไฟฟ้า แต่ในความเป็นจริงพบว่า ณ สิ้นปี 2567 กำลังผลิตไฟฟ้าของไทยรวมประมาณ 50,724.1 เมกะวัตต์ แต่ กฟผ. ผลิตจริงเพียง 16,226.02 เมกะวัตต์ คิดเป็น 32.06% ขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ผลิตอยู่ 18,973.50 เมกะวัตต์ คิดเป็น 37.4% และในจำนวน 18,973.50 เมกะวัตต์ เป็นของบริษัทรายเดียวถึง 16,000 เมกะวัตต์ และที่ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) กว่า 9,000 เมกะวัตต์ ก็มีปัญหาเรื่องสัญญาการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) ที่ให้ราคาสูงและสัญญาการผลิตไฟฟ้าสามารถต่อได้โดยอัตโนมัติทุก 5 ปี ไม่มีสิ้นสุดสัญญา ปัญหาเหล่านี้มีส่วนทำให้ค่าไฟฟ้าแพงและเป็นปัญหาต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไข
ส่วนปัญหาค่าความพร้อมจ่าย (AP ) ไฟฟ้า กรณีที่หน่วยงานรัฐไม่สั่งจ่ายไฟฟ้าก็ต้องจ่ายค่า AP ให้ผู้ผลิตไฟฟ้า แม้กระทั่งสั่งให้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าก็ยังต้องจ่ายค่า AP อยู่ดี กลายเป็นภาระของประชาชน โดยกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด 50,724 เมกะวัตต์ ในปี 2567 มีการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) 36,000 เมกะวัตต์ แต่ถ้าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าจะพบว่าใช้จริงเพียง 25,100 เมกะวัตต์เท่านั้น ส่วนที่เหลือ 25,600 เมกะวัตต์ เป็นไฟสำรองที่ต้องจ่าย AP โดยผู้ประกอบการไม่ต้องทำอะไรเลย
สำหรับในเรื่องของการเปลี่ยนผ่านพลังงานนั้น เป็นเรื่องของไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯ ไปเป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อสิ่งแวดล้อมโลก ซึ่งในอนาคตจะส่งผลให้ต้องเลิกผลิตไฟฟ้าจากก๊าซฯ ถ่านหิน และน้ำมันทั้งหมด ดังนั้นแบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าจะเกิดการพัฒนาขึ้นมาเก็บไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไว้ จึงต้องเตรียมกฎหมายไว้รองรับ ส่วนการซื้อไฟฟ้าต่างประเทศที่ผ่านมา 6,234 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะพลังน้ำจาก สปป.ลาว พบว่าค่าไฟฟ้า 2.60-2.70 บาทต่อหน่วย รวมค่าสายส่งเป็นกว่า 3 บาทต่อหน่วย ซึ่งแพงกว่าค่าไฟฟ้าจากก๊าซฯ ที่ 2.90 บาทต่อหน่วย ซึ่งต้องพิจารณาถึงข้อเท็จจริงให้มากขึ้น
“ถ้าทุกคนที่เกี่ยวข้องกับประเทศ ไม่เลิกคิดด้านธุรกิจการค้า และผู้ประกอบการไม่หันมาคิดถึงความมั่นคงด้านพลังงาน การเปลี่ยนผ่านในอนาคตก็ไม่มีประโยชน์เพราะผลกำไรก็จะไปเป็นแบบเดิม และสิ่งต่างๆ นี้ เป็นสิ่งที่เราต้องเผชิญต่อไปในอนาคตถ้าเรานิ่งเฉย ผมปล่อยนิ่งเฉยไม่ได้ ทำได้แค่ไหนไม่ทราบ แต่ผมทำ เพราะผมไม่เคยคิดว่ามันร้ายแรงขนาดนี้ ฉะนั้นเราทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ มีส่วนได้เสียด้านพลังงาน การเปลี่ยนผ่านพลังงานต่อไปอย่าให้มันเหมือนเดิมคือกลายเป็นทาสของผู้ประกอบการ ผมเป็นนักการเมืองมาแล้วก็ไป ช่วงที่ทำงานก็จะทำให้ดี ผมมีโอกาสมาทำงาน ถ้าประชาชนนั่งเฉยเปลี่ยนผ่านไปก็ไม่มีประโยชน์ ท่านต้องคิดว่าวางแผนอย่างไรให้ไทยหลุดพ้นจากการครอบงำธุรกิจการค้าด้านพลังงาน การเปลี่ยนผ่านไม่มีประโยชน์ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาการผูกขาดด้านพลังาน และจะกลายเป็นการทำทั้งหมดเพื่อรองรับภาคธุรกิจการค้าเท่านั้น” นายพีระพันธุ์ กล่าว