รัฐมนตรีพลังงาน ขอนำร่องซื้อไฟโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ปีละ100เมกะวัตต์ ต่อเนื่อง 10ปี ระบุหาก1-2 ปีแรกมียอดผู้เข้าร่วมโครงการไม่ถึงเป้า กระทรวงพลังงานต้องทบทวนวิธีการใหม่
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้าบนหลังคา หรือโซลาร์ภาคประชาชน ที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศฉบับใหม่ หรือPDP2018ว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดโครงการโซลาร์ภาคประชาชน โดยเบื้องต้นจะรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินเข้าระบบจำนวนปีละ 100 เมกะวัตต์ ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี เพื่อนำร่องและประเมินผล เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยเปิดรับซื้อไฟฟ้าภาคประชาชนในลักษณะดังกล่าว จึงยังไม่ทราบแน่ชัดว่าประชาชนที่มีกว่า 2 ล้านครัวเรือนจะขายไฟฟ้าเข้าระบบได้มากถึง 10,000 เมกะวัตต์จริงหรือไม่
ทั้งนี้ในช่วง 1-2 ปีแรกจะเริ่มเห็นความชัดเจนว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการและเสนอปริมาณไฟฟ้าเข้าระบบได้เกิน 100 เมกะวัตต์ตามเป้าหมายหรือไม่ หากไม่ได้ตามเป้าหมายกระทรวงพลังงานจะต้องพิจารณาปรับทบทวนวิธีการใหม่
นายศิริ กล่าวด้วยว่า สำหรับที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2562 ที่ผ่านมา กบง. ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ไปพิจารณารายละเอียดการออกระเบียบและหลักเกณฑ์เพื่อรองรับการเปิดประมูลรับซื้อไฟฟ้าใหม่ ตาม PDP 2018ฉบับใหม่ ทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเปิดให้เกิดการแข่งขันของภาคเอกชนกว่า 5,000 เมกะวัตต์ และการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) รวมถึงโครงการพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำบนเขื่อน(Hydro-Floating Solar Hybrid) ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ.)ขนาด 2,725 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องนำกลับมาเสนอ กบง.พิจารณารายละเอียดร่วมกันอีก 2-3 ครั้ง ก่อนจะสรุปหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเดินหน้าออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าตามแผนต่อไป