พรรคประชาชนเกาะติดการสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงานใหม่ที่ยังว่างอยู่ 4 ตำแหน่ง โดยตั้ง 3 ประเด็นที่เป็นข้อกังวล ที่อาจทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการสรรหา และเรียกร้องผู้เกี่ยวข้องออกมาชี้แจงให้ประชาชนเกิดความมั่นใจ ในกระบวนการสรรหา
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -ENC ) รายงานว่า โซเชียลมีเดีย X ของ Supachot Chaiyasat ซึ่งเป็น สส.พรรคประชาชน ได้เกาะติดการที่คณะรัฐมนตรีมีมติในการประชุมเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อสรรหากรรมการกำกับกิจการพลังงานใหม่ จำนวน 4 คน แทนกรรมการเดิม ซึ่งพ้นตำแหน่งตามวาระ โดยสรุปประเด็นสำคัญว่า กรรมการสรรหาที่ 8 คน ประกอบด้วย 1. นายณอคุณ สิทธิพงศ์ 2. นายประสงค์ พูนธเนศ 3. นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ 4. นายพสุ โลหารชุน 5. นายคมสัน เหล่าศิลปเจริญ 6. นายขวัญชัย ลีเผ่าพันธุ์ 7. นายพงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล และ 8. นายสมศักดิ์ สันธินาค ซึ่งเมื่อมีการออกประกาศเพิ่มเติมจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่เปิดเผยรายละเอียดการมีส่วนได้เสียเชิงธุรกิจกับผู้ประกอบกิจการพลังงานของคณะกรรมการสรรหา ทำให้เห็นถึงถึงความไม่โปร่งใสในกระบวนการสรรหาบอร์ด กกพ. ชุดใหม่ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลภาคพลังงานของประเทศไทย เนื่องจากตามข้อมูลในประกาศได้ระบุไว้ว่า คณะกรรมการสรรหาเกือบทุกท่านมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ในประเทศไทยทั้งสิ้น ทั้งการดำรงตำแหน่ง หรือเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารในบริษัททางด้านพลังงาน ตั้งแต่ตำแหน่งประธานกรรมการ คณะกรรมการ หรือแม้กระทั่งถือหุ้นของบริษัทพลังงานเป็นจำนวนมาก พร้อมตั้ง 3 ประเด็น ที่เป็นข้อกังวลถึงความโปร่งใสในการสรรหาดังนี้
1. คณะกรรมการสรรหาจะสามารถปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง โดยปราศจากแรงจูงใจด้านผลประโยชน์จากกลุ่มทุนพลังงานหรือไม่?
2. ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่าคณะกรรมการสรรหาจะดำเนินการอย่างมีธรรมาภิบาล และไม่เอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนพลังงานที่ตนมีส่วนได้ส่วนเสีย?
3. ประชาชนจะมั่นใจได้อย่างไรว่า คณะกรรมการชุดนี้ที่สรรหามาจะปฏิบัติหน้าที่โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ในเมื่อมีความเชื่อมโยงทางผลประโยชน์กับกลุ่มทุนพลังงานอย่างชัดเจนเช่นนี้?
พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการออกมาอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่าการคัดสรรของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ บอร์ด กกพ. ในครั้งนี้จะดำเนินไปด้วยความโปร่งใส และยึดเอาประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นสูงสุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตำแหน่งกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ที่ว่างลง 4 ตำแหน่งจากทั้งหมด 7 ตำแหน่ง ถือว่ามีความสำคัญต่อการกำกับดูแลกิจการพลังงานของประเทศตามกฏหมายให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้ใช้พลังงาน เช่นการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า และอัตราค่าบริการต่างๆที่เป็นต้นทุนของค่าไฟฟ้า ซึ่ง หากฝ่ายคณะกรรมการสรรหาไม่ได้สรรหากรรมการทั้ง 4 คน อย่างโปร่งใส และอธิบายต่อสังคมได้ เราก็จะมี บอร์ดกกพ.ที่มีเสียงข้างมาก เป็นบุคคลที่สังคมมีความเคลือบแคลงใจในการปฏิบัติหน้าที่กำกับกิจการพลังงานในการดำรงตำแหน่งตามวาระ 6 ปี