กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) นัดประชุมร่วมกับ ปตท. กฟผ. และหน่วยงานในกระทรวงมหาดไทย 18 มิ.ย. 2562 นี้ เพื่อศึกษาการตั้ง โรงงานเชื้อเพลิงขยะหรือ RDF (Refuse Derived Fuel)40แห่ง ป้อนโรงไฟฟ้า ก่อนเสนอรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่พิจารณาอนุมัติ
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 มิ.ย. 2562 นี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) จะเปิดประชุมนัดแรกในการศึกษาการจัดตั้งโรงงานต้นแบบผลิตเชื้อเพลิงขยะ (RDF) โดยจะประชุมร่วมกับหน่วยงานรัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.),กระทรวงมหาดไทย,บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) โดยมีอธิบดีกรม พพ. เป็นประธาน
ทั้งนี้การประชุมดังกล่าวจะมีการหารือรายละเอียดการศึกษาจัดตั้งโรงงาน RDF และนำตัวอย่าง “โครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร จังหวัดระยอง (แปลงเป็นเชื้อเพลิง RDF)” ที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง (อบจ.ระยอง) ร่วมกับ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC จัดตั้งขึ้น นำมาเป็นตัวอย่าง โดยจะต้องพิจารณาแนวทางที่เป็นไปได้ รวมถึงรูปแบบโรงงานที่เหมาะสม ซึ่งตามเป้าหมายจะจัดตั้งโรง RDF ขนาดเล็กทั้งสิ้น 40 แห่งทั้วประเทศ โดยเบื้องต้นต้องเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านขยะ และอยู่ใกล้โรงไฟฟ้าเพื่อรองรับเชื้อเพลิง RDF
อย่างไรก็ตามผลการศึกษาดังกล่าวจะต้องเสร็จและนำเสนออนุกรรมการบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ในเดือนพ.ย. 2562 นี้
โดยหลังจากผลการศึกษาผ่านการพิจารณาแล้ว พพ.จะต้องนำมาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ และบรรจุในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP)ที่พพ. อยู่ระหว่างการจัดทำแผนดังกล่าวให้สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าประเทศพ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP 2018 ส่วนงบประมาณที่จะนำมาดำเนินโครงการดังกล่าวจะต้องเป็นงบจาก สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (สกทอ.) ที่จะพิจารณาต่อไป
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า สำหรับการศึกษาดังกล่ว เกิดขึ้นจาก คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ชุดที่มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มอบหมายให้ พพ. ไปดำเนินการส่งเสริมชุมชนตั้งโรงงานต้นแบบผลิตเชื้อเพลิงขยะ- RDF เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยจัดการปัญหาขยะชุมชนและสร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน
โดยขณะนั้นคณะกรรมการกองทุนฯ มีมติให้ดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวภายใน 6 เดือน ใช้งบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2562 (รอบ2) ภายในวงเงิน 100 ล้านบาท เบื้องต้น พพ. มีแผนงานจะใช้ชุมชนในพื้นที่จังหวัดระยองเป็นโรงงานต้นแบบในการดำเนินการและหากประสบความสำเร็จจะมีการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆต่อไป
สำหรับขยะ RDF คือ การนำขยะมูลฝอยที่ผ่านการคัดแยกแล้ว มาผ่านกระบวนการแปรรูปและจัดการต่างๆ เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมี ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงขยะ