พพ. – กฟผ. ร่วมสร้างมาตรฐานฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงานของอาคารและโรงงานเบอร์ 5

186
- Advertisment-

พพ. ร่วมกับ กฟผ. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือยกระดับประสิทธิภาพพลังงานของโรงงานและอาคาร ส่งเสริมผู้ประกอบการติดฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงานเบอร์ 5 รวมทั้งเตรียมความพร้อมการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการประหยัดพลังงานของไทยและสากล 

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ร่วมกับ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือยกระดับประสิทธิภาพพลังงานของโรงงานและอาคารที่มีอยู่เดิม ด้วยการติดฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงาน โดยมีผู้บริหาร พพ. และ กฟผ. ร่วมพิธี ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่

วัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดี พพ. กล่าวว่า พพ. ได้ส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม ผ่านการกำกับและบังคับใช้กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานในโรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ.2552 ความร่วมมือในครั้งนี้ พพ. และ กฟผ. จะร่วมกันกำหนดเกณฑ์มาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของโรงงานและอาคาร ส่งเสริมกระบวนการติดฉลากแสดงประสิทธิภาพพลังงานเบอร์ 5 ให้แก่โรงงานและอาคารที่สามารถผ่านเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เกิดการประหยัดพลังงาน ได้ 500 ktoe (พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ) ต่อปี ช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าได้ 5,864 ล้านหน่วย ลดการปล่อยคาร์บอนได้ 3.2 ล้านตัน ภายในปี 2580

- Advertisment -
เทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ.

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเสริมว่า กฟผ. ได้ดำเนินงานบริหารจัดการด้านการใช้พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี ติดฉลาก ฯ แล้วกว่า 470 ล้านดวง ลดการใช้ไฟฟ้ากว่า 37,000 ล้านหน่วย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ดำเนินโครงการที่ปรึกษาพลังงาน มุ่งเน้นการให้คำปรึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคอาคารและโรงงาน


การร่วมมือกับ พพ. ในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงผลลัพธ์ของการใช้พลังงานในอาคารและโรงงานที่มีอยู่เดิมผ่านการกำหนดค่าประสิทธิภาพพลังงาน เตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการภาคอาคารและโรงงานสำหรับการบังคับใช้กฎหมายประหยัดพลังงานของประเทศไทยและการบังคับใช้มาตรการระดับสากลที่มีผลต่อธุรกิจในประเทศไทย รวมทั้งบูรณาการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของการใช้พลังงานในภาคอาคารและโรงงาน เพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายหรือดำเนินมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์พลังงานของประเทศไทยในอนาคต 

ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นการร่วมกันสร้างกลไกที่สำคัญและเป็นแนวทางที่มีศักยภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานในภาคส่วนที่มีการใช้พลังงานสูง สร้างผลลัพธ์เชิงบวกด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเศรษฐกิจระดับมหภาคของประเทศ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนต่อไป

Advertisment