ปิดฉาก ดีเซลB20 น้ำมันที่เกิดในยุค “ ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ”เป็นรัฐมนตรีพลังงาน เมื่อปี 2562 โดยทยอยเลิกจำหน่าย ตั้งแต่ต้นปี 2565 หลังคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) สั่งรวมดีเซลเหลือเกรดเดียว เพราะค่าการตลาดต่ำไม่คุ้มค่าการลงทุน ชี้สถานการณ์จริง ดีเซลในไทยเหลือขายเพียง ดีเซล B7
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันค่ายน้ำมันต่างๆ ไม่มีการจำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซล B20 (น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 20% ในทุกลิตร) ในสถานีบริการน้ำมันแล้ว โดยส่วนใหญ่ได้ถอดหัวจ่ายน้ำมันดีเซล B20 ออก หรือเปลี่ยนไปจำหน่ายน้ำมันชนิดอื่นแทน เนื่องจากค่าการตลาดดีเซล B20 ต่ำมากไม่คุ้มค่ากับการลงทุน
โดยค่าการตลาดน้ำมันล่าสุดที่รายงานโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 19 มิ.ย. 2567 พบว่า ค่าการตลาดน้ำมันดีเซล B20 เหลือเพียง 0.84 บาทต่อลิตร ขณะที่ค่าการตลาดน้ำมันดีเซลทั่วไปอยู่ที่ 1.47 บาทต่อลิตร ส่วนกลุ่มน้ำมันเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ มีค่าการตลาดประมาณ 3 บาทต่อลิตร แต่เมื่อเฉลี่ยค่าการตลาดตั้งแต่ 1-19 มิ.ย. 2567 พบว่าค่าการตลาดน้ำมันโดยรวมอยู่ที่ 2.36 บาทต่อลิตร (จากค่าการตลาดที่เหมาะสม 1.5-2 บาทต่อลิตร)
อย่างไรก็ตามการเลิกจำหน่ายดีเซล B20 เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2565 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้นมาก ส่งผลให้ขณะนั้นคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติปรับสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (B100) ในน้ำมันดีเซลใหม่ จากเดิมเคยมีการผสม B100 ในดีเซล 3 ชนิดแตกต่างกัน ได้แก่ ดีเซลB7 (น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 7% ในทุกลิตร), ดีเซล B10 (น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 10% ในทุกลิตร) และดีเซล B20 (น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ 20% ในทุกลิตร)
โดย กบง. ในขณะนั้น ได้ปรับสัดส่วนการผสม B100 ในน้ำมันดีเซลใหม่ให้เท่ากันทุกชนิด ส่งผลให้ไทยเหลือการจำหน่ายดีเซลเพียงเกรดเดียวคือ ดีเซลB7 ซึ่งกำหนดใช้มาตรการดังกล่าว 4 เดือน (ธ.ค. 2564 – มี.ค. 2565) โดยหลังสิ้นสุดมาตรการนี้ ผู้ค้าน้ำมันส่วนใหญ่ก็ไม่ได้กลับมาจำหน่ายดีเซล B20 อีก ทำให้เหลือการจำหน่ายเพียง ดีเซลB7 และดีเซล B10 เท่านั้น
ล่าสุดคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้มีมติอย่างเป็นทางการให้ปรับลดชนิดน้ำมันดีเซลในสถานีบริการน้ำมันลง โดยให้ยกเลิกการจำหน่ายดีเซล B10 ซึ่งเริ่มใช้ตั้งแต่ 1 พ.ค. 2567 ที่ผ่านมา แต่ผ่อนผันให้ผู้ค้าน้ำมันดำเนินการเลิกจำหน่ายภายใน 3 เดือน ระหว่าง พ.ค.-ก.ค. 2567 นี้ และให้ดีเซล B7 เป็นน้ำมันพื้นฐานสำหรับการจำหน่าย โดยกำหนดสัดส่วนการผสม B100 อยู่ที่ 6.6-7% ในดีเซลทุกลิตร และให้ดีเซล B20 เป็นน้ำมันทางเลือกของประชาชน
อย่างไรก็ตามปัจจุบันแทบจะไม่มีการจำหน่ายดีเซล B20 แล้ว จึงทำให้ไทยเหลือการจำหน่ายดีเซล B7 เพียงเกรดเดียวเท่านั้น โดยการเลิกจำหน่ายดีเซลB20 เป็นการปรับลดชนิดน้ำมันตามกลไกตลาด ทำให้ไม่เกิดปัญหาต่อผู้บริโภค
สำหรับน้ำมันดีเซล B20 เกิดขึ้นในยุค ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีพลังงาน เพื่อแก้ปัญหาน้ำมันปาล์มล้นตลาด จึงนำมาผสมในดีเซลเพื่อจำหน่ายให้กับกลุ่มผู้ใช้รถบรรทุกเป็นส่วนใหญ่ เปิดตัวออกสู่ตลาดครั้งแรกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ไม่ได้รับความนิยม และค่าการตลาดต่ำ ทำให้ผู้ค้ายกเลิกการจำหน่ายในที่สุด นอกจากนี้การหยุดจำหน่ายดีเซลB20 ยังส่งผลดีต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ไม่ต้องอุดหนุนราคา ซึ่งปัจจุบันกองทุนฯ ช่วยอุดหนุนราคาดีเซลให้ผู้บริโภคอยู่ 1.20 บาทต่อลิตร