สนพ.เปิดข้อมูลไทยยังพึ่งพาพลังงานนำเข้าต่อการใช้ ในปี2562 เป็นสัดส่วนสูงถึง 67% แม้มูลค่าการนำเข้าจะลดลง 14% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)เปิดเผยว่า การพึ่งพาการนำเข้าต่อการใช้พลังงานของไทยในภาพรวม ในปี 2562 ยังคงมีสัดส่วนที่สูงในระดับ 67%
อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 มูลค่าการนำเข้าพลังงานคิดเป็น 1,053 พันล้านบาท ลดลง 14% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสำคัญจากราคาน้ำมันดิบที่มีราคาเฉลี่ยลดลง ซึ่งการนำเข้าน้ำมันดิบคิดเป็นสัดส่วน 61%
ในขณะที่การส่งออกพลังงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำมันสำเร็จรูป มีมูลค่า 194 พันล้านบาท ลดลง 32%
สำหรับสถานการณ์พลังงานปี 2562 ในภาพรวมของการใช้พลังงานขั้นต้นของประเทศ เติบโตเพิ่มขึ้น 0.7% เป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และพลังงานทดแทน สอดคล้องกับ GDP ของประเทศ ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) คาดการณ์ว่าจะขยายตัวประมาณ 2.6% ตามการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคของเอกชน และราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 62 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ขณะเดียวกันการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของปี 2562 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 0.1% โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในภาคขนส่ง การใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนและธุรกิจเพิ่มขึ้น
ขณะที่การใช้ถ่านหินและลิกไนต์ลดลงจากการใช้ในภาคอุตสาหกรรม เช่นเดียวกับการใช้ NGV ในภาคขนส่งลดลงอย่างมากถึง 11% เนื่องจากผู้ใช้รถยนต์ NGV บางส่วนหันมาใช้น้ำมันทดแทน
สำหรับสถานการณ์พลังงานรายเชื้อเพลิง ปี 2562 สรุปได้ดังนี้ การใช้น้ำมันสำเร็จรูปมีการใช้เพิ่มขึ้น 1.6% โดยน้ำมันเบนซิน และดีเซล เพิ่มขึ้น ประมาณ 4% จากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และมีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน ขณะที่น้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้นไม่มากนัก เนื่องจากการชะลอตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรก ในขณะที่การใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ลดลงเกือบทุกสาขา โดยเฉพาะภาคครัวเรือน คาดว่าเกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคมีการใช้เตาไฟฟ้าและเตาไมโครเวฟเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับยอดขายเตาไมโครเวฟที่เพิ่มขึ้นถึง 14% และภาคขนส่งลดลงจากผู้ใช้รถยนต์บางส่วนหันไปใช้น้ำมันแทนเนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก
สำหรับการคาดการณ์การใช้พลังงานขั้นต้นในปี 2563 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8 จากการเพิ่มขึ้นของน้ำมัน ถ่านหิน/ลิกไนต์ พลังงานทดแทน ไฟฟ้านำเข้า และก๊าซธรรมชาติ ขณะที่การใช้พลังงานไฟฟ้าของ ปี 2563 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.6% จากปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ การส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นตามการดำเนินมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ มาตรการการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนภายใต้โครงการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (PPP)