สนพ.เปิดประชาพิจารณ์ร่างแผน PDP ฉบับใหม่ หรือPD2018 กำหนดให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 2 โรงที่สุราษฎร์ธานี เพื่อเข้าระบบ ในปี 2570 และปี 2572 รวมกำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ แทนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่และเทพา เพื่อความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ พร้อมเปิดให้เอกชนรายใหญ่เข้ามาสร้างโรงไฟฟ้าแข่งกับ กฟผ.อีก 1,000 เมกะวัตต์ ในโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลัก เข้าระบบในปี 2577
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2561 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็น “การจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ฉบับใหม่ (PDP ฉบับใหม่)” ในพื้นที่ภาคใต้ขึ้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี โดยตามร่างแผน PDP ฉบับใหม่หรือ PDP2018 ภาคใต้ ได้กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นผู้ดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ 2 โรง ในพื้นที่จังหวัดสุราฎร์ธานี เพื่อความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้ โดยกำหนดให้สร้างขึ้นในปี 2570 ขนาด 700 เมกะวัตต์ และสร้างอีกโรงในปี 2572 ขนาด 700 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ ตามแผน PDP ฉบับใหม่ ยังกำหนดเปิดให้มีการแข่งขันสร้างโรงไฟฟ้าจำนวน 2 โรง สำหรับเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) และกฟผ. โดยโรงแรกกำหนดให้แข่งขันเพื่อเข้าระบบในปี 2577 ขนาดกำลังผลิต 1,000 เมกะวัตต์ ซึ่งกำหนดประเภทเชื้อเพลิงให้เป็นการแข่งขันสร้างโรงไฟฟ้าประเภทถ่านหิน หากผลการศึกษาของ “คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้” เห็นควรให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ภาคใต้ได้ ส่วนโรงที่ 2 จะเปิดให้แข่งขันให้สร้างในปี 2578 ขนาดกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ เบื้องต้นเป็นการแข่งขันสร้างโรงไฟฟ้าประเภทก๊าซธรรมชาติ
ด้านแหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในระยะยาวพื้นที่ภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างน้อย 1 โรง เพื่อเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่ราคาต้นทุนการผลิตไฟฟ้าไม่แพง ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงไฟฟ้าในพื้นที่ได้ จึงมีการกำหนดไว้ให้สร้างช่วงปลายแผน PDP ฉบับใหม่
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ได้กำหนดให้กระทรวงพลังงานต้องจัดทำแผน PDP ใหม่อีกครั้งในปี 2563 เนื่องจากสถานการณ์พลังงานจะเกิดการเปลี่ยนจากการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติและการเปิดเสรีการผลิตไฟฟ้าบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) และอาจทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงไปด้วย จึงต้องปรับแผน PDP ประเทศใหม่อีกครั้ง ดังนั้น การสร้างโรงไฟฟ้าที่กำหนดไว้ในปลายแผนของ PDP ฉบับใหม่ที่กำลังจัดทำอยู่ในขณะนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน
สำหรับการประชาพิจารณ์แผน PDP ฉบับใหม่ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ครั้งนี้ ตัวแทนจาก กฟผ.ได้อภิปราย เรียกร้องให้กระทรวงพลังงาน เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. กลับมาอยู่ระดับ 50% ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ จากปัจจุบันที่ลดเหลือเพียงแค่ 37% เท่านั้น ซึ่งการเพิ่มสัดส่วนดังกล่าวสามารถทำได้ซึ่งอยู่กับความสามารถของ กฟผ. ในการเข้าไปประมูลแข่งสร้างโรงไฟฟ้ากับผู้ผลิตไฟฟ้า IPP ในอนาคต
แหล่งข่าวกล่าวว่า การเปิดรับฟังความเห็นแผน PDP ฉบับใหม่นี้ ยังเหลือการรับฟังความเห็นอีก 2 ครั้ง ได้แก่ การรับฟังความเห็นของประชาชนในภาคตะวันออก ซึ่งจะจัดขึ้นที่จ.ชลบุรี เร็วๆนี้ และครั้งสุดท้ายจะจัดขึ้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ ประมาณกลางเดือน ธ.ค.2561 นี้ จากนั้นจะนำแผน PDP ฉบับใหม่ที่เสร็จสมบูรณ์เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยเร็วที่สุด ซึ่งฉบับสมบูรณ์จะระบุอัตราค่าไฟฟ้าปลายแผนPDP ไว้ด้วย ซึ่งจะต้องเป็นราคาที่ไม่สูงไปกว่าแผน PDP2015 ฉบับปัจจุบันที่อัตราค่าไฟฟ้าปลายแผนไว้ที่ 5.55 บาทต่อหน่วย