สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) นัดหารือกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เดินหน้าจัดทำรายละเอียดปรับทบทวนแผนPDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ช่วง 10 ปีแรก (2564-2573) เน้นเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากขึ้นตามมติ กบง. ระบุมีหลายโครงการที่คาดว่าจะต้องปรับปริมาณรับซื้อและระยะเวลาการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบใหม่ให้สอดคล้อง ทั้งโรงไฟฟ้าชุมชน ที่กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายในปี 2567 จำนวน 1,233 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าขยะภาคนโยบาย 400 เมกะวัตต์ กำหนดเข้าระบบ ปี 65 โซลาร์เซลล์ภาคประชาชน และการซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ที่ยังไม่ระบุชื่อโครงการอีกกว่า 3,500 เมกะวัตต์
นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. เตรียมนัดหารือกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในเร็วๆนี้ ถึงรายละเอียดการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP2018 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1) หลังจากมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมากำหนดให้ปรับทบทวนแผน PDP ฉบับดังกล่าวสำหรับช่วงเวลา พ.ศ. 2564-2573 หรือในช่วง 10 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนให้มากขึ้น
โดยเบื้องต้นจะหารือเกี่ยวกับการเพิ่มปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่ม เช่น จากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และโครงการโซลาร์ภาคประชาชน นอกจากนี้จะเร่งรัดโครงการพลังงานทดแทนที่ล่าช้าให้เร็วขึ้น เช่น โครงการโรงไฟฟ้าขยายผลประมาณ 140 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สนพ.คาดว่าการปรับทบทวนแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 จะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน หรือภายในเดือน พ.ย. 2564 นี้ ตามมติ กบง. ซึ่งจะไม่มีการเปิดรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้อง และเมื่อปรับเสร็จแล้วจะต้องนำเสนอ กบง. เพื่อขอกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนออกมาด้วย ทั้งนี้การปรับแผนดังกล่าวจะต้องนำไปรวมอยู่ในแผน PDP ฉบับใหม่ หรือ PDP2022 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนพลังงานแห่งชาติด้วย
สำหรับภาพรวมการจัดทำแผนพลังงานในครั้งนี้ ขั้นตอนแรก เริ่มจากการจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ ซึ่งหลังจากผ่านการรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว จะมีการจัดทำแผนย่อย 5 แผน ได้แก่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP 2022 และ แผนก๊าซธรรมชาติ หรือ Gas Plan ซึ่ง สนพ.เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก หรือ AEDP และ แผนอนุรักษ์พลังงาน หรือ EEP ซึ่งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เป็นผู้รับผิดชอบ ส่วนแผนน้ำมัน หรือ Oil Plan ทางกรมธุรกิจพลังงานเป็นผู้รับผิดชอบ
จากนั้นจะนำเสนอ กบง. เพื่อรวบรวมและจัดทำให้เป็นภาพรวมแผนพลังงานแห่งชาติเพียงฉบับเดียว จึงจะเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนสังคม ก่อนจะนำเสนอต่อ กพช. ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอได้อย่างช้าที่สุดประมาณเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 และเมื่อผ่านความเห็นชอบแล้ว คาดว่าจะเริ่มใช้แผนพลังงานแห่งชาติได้ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC) รายงานว่า สำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 20 ต.ค.2563 ที่ผ่านมา ในช่วง 10 ปีแรก (2564-2573) นั้นปี 64 มีการกำหนดให้โรงไฟฟ้าเข้าระบบ 350 เมกะวัตต์ แต่เปิดรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบได้จริง 150 เมกะวัตต์ โดย กกพ.เพิ่งมีการประกาศผลผู้ชนะการประมูลไปเมื่อวันที่ 23 ก.ย.ที่ผ่านมา และในปี 2565 กำหนดให้เข้าระบบ 323 เมกะวัตต์ ปี 66 กำหนดเข้าระบบ 280 เมกะวัตต์ ปี 67 กำหนดเข้าระบบ 280 เมกะวัตต์ รวม 1,233 เมกะวัตต์
ส่วนโรงไฟฟ้าจากขยะชุมชนภาคนโยบาย กำหนดให้เข้าระบบในปี 65 ทั้ง 400 เมกะวัตต์
สำหรับการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ ในปี 65 จะมีโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 1 เข้าระบบ 514 เมกะวัตต์ และที่ยังไม่ระบุชื่อโครงการแต่มีแนวโน้มที่จะเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว นั้น กำหนดเข้าระบบในปี 69 ปริมาณ 700 เมกะวัตต์ ปี 70 เข้าระบบ อีก 700 เมกะวัตต์ และ ตั้งแต่ปี 75 ปี 76 ปี 78 อีกปีละ 700 เมกะวัตต์ รวมปริมาณ 3,500 เมกะวัตต์ มีการคาดการณ์ว่าอาจจะมีการเร่งรัดโครงการให้เข้ามาอยู่ในช่วง 10 ปีแรกคือภายในปี 2573 มากขึ้น