คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบปรับลดกรอบการใช้เงินจากกองทุนอนุรักษ์ฯ 5 ปีลงเหลือ 5 หมื่นล้านบาท จากเดิมกำหนดไว้ 6 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 1 หมื่นล้านบาท เหตุจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯได้น้อยลง พร้อมปรับสัดส่วนการใช้เงินสำหรับโครงการด้านแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานลงจาก 67% เหลือ 50% แต่ไปเพิ่มวงเงินสำหรับโครงการที่เกี่ยวกับแผนพลังงานทดแทนจากเดิม 30% เป็น 47% รวมทั้งแต่งตั้งอนุกรรมการ 4 ชุด สั่งเร่งเคลียร์งบค้างจ่ายตั้งแต่ปี2557ถึงปัจจุบันที่มีสะสมอยู่กว่า1.5 หมื่นล้านบาท
นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบปรับลดกรอบวงเงินกองทุนฯ ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2563-2567) เหลือ 50,000 ล้านบาท แบ่งการใช้จ่ายเป็นปีละ 10,000 ล้านบาท จากเดิมกรอบวงเงินกองทุนฯ กำหนดไว้ในช่วงปี 2560-2564 อยู่ที่ 60,000 ล้านบาท หรือแบ่งการใช้เป็น 12,000 ล้านบาทต่อปี ลดลงจากแผนเดิม 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้การปรับลดกรอบเงินกองทุนฯลง เนื่องจากการเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันได้น้อยลง เพราะตั้งแต่ปี 2561-2563 รัฐบาลปรับลดการเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันเพื่อส่งเข้ากองทุนฯลดลงจาก 25 สตางค์ต่อลิตร เหลือ 10 สตางค์ต่อลิตร ทำให้คาดการณ์ว่าหากตั้งกรอบการใช้เงินไว้เท่าเดิมที่ 60,000 ล้านบาท จะทำให้กองทุนฯติดลบได้ จึงต้องปรับลดลง โดยรายรับของกองทุนอนุรักษ์ลดลงจาก600-800ล้านบาทต่อเดือน เหลือ100-300ล้านบาทต่อเดือน
นอกจากนี้คณะกรรมการยังเห็นชอบให้ปรับลดสัดส่วนเงินสำหรับโครงการที่เกี่ยวกับแผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานลงจาก 67% เหลือ 50% และไปเพิ่มวงเงินสำหรับโครงการที่เกี่ยวกับแผนพลังงานทดแทนจากเดิม 30% เป็น 47% ส่วนสัดส่วนวงเงินด้านแผนบริหารจัดการกองทุนฯ ยังอยู่เท่าเดิม 3%
พร้อมกันนี้ยังได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ได้แก่
1.คณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน
2.คณะอนุกรรมการกลั่นกรองงบประมาณของกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน
3.คณะอนุกรรมการประเมินผลโครงการภายใต้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
4.คณะอนุกรรมการบริหารสำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
โดยคณะอนุกรรมการชุดที่ 3-4 อยู่ระหว่างการแต่งตั้งบุคคลที่จะมาเป็นประธาน
อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวจะต้องนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ซึ่งเบื้องต้นมีกำหนดประชุมในสิ้นเดือน ต.ค. 2562 นี้ หาก กพช.เห็นชอบได้เร็ว ก็สามารถเปิดรับข้อเสนอโครงการ ในส่วนของกองทุนฯประจำปี 2563 ได้ประมาณเดือน ธ.ค. 2562 นี้ หลังจากล่าช้ามาจากเดือน ต.ค. 2562 ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและมีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการกองทุนฯ
นายสนธิรัตน์กล่าวว่า สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนขนาดเล็กมากที่ชุมชนผลิตเพื่อใช้เอง จะสนับสนุนผ่านเงินกองทุนอนุรักษ์ฯได้ โดยจัดอยู่ในประเภทการส่งเสริมพลังงานทดแทน ซึ่งจะมีการกำหนดหลักเกณฑ์การขอใช้เงินอีกครั้ง
ในส่วนของงบค้างจ่ายของกองทุนอนุรักษ์ฯที่ยังมีปัญหาสะสมอยู่นั้น คณะกรรมการได้มอบให้ทางสำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ไปเร่งแก้ไขปัญหาให้มีการเบิกจ่ายได้โดยเร็ว
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า งบการเบิกจ่ายจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มียอดค้างสะสมตั้งแต่ปีงบประมาณ2557ถึงปัจจุบันรวมประมาณ1.5หมื่นล้านบาท เนื่องจากโครงการส่วนหนึ่งมีการดำเนินการที่ผิดระเบียบ หลักเกณฑ์ จึงไม่สามารถอนุมัติได้ รวมทั้งยังมีส่วนที่มีการตั้งเบิกล่าช้าด้วย
โดยที่ผ่านมาปัญหาส่วนหนึ่งของการขอเบิกจ่ายงบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เนื่องจากมีการเปิดช่องให้มีการนำเสนอโครงการโดยของบผ่านหน่วยงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)แทนช่องทางพลังงานจังหวัด ซึ่งหน่วยงานที่ยื่นขอ อาจขาดความเข้าใจเรื่องระเบียบ กฏเกณฑ์ จึงมีการดำเนินการไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ทำให้ สำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานไม่สามารถอนุมัติการจ่ายเงินได้ ทั้งนี้ในงบประมาณสำหรับปี 2563-2567 คณะอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน จะไม่เปิดช่องให้มีการขอใช้งบผ่าน หน่วยงาน กอ.รมน.เหมือนปีที่ผ่านมา